หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับคำร้อง 40 สว.กรณียื่นถอดถอน “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ออกจากตำแหน่งจากปมการเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีทั้งที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
…
แม้นายกฯ และพรรคเพื่อไทย (พท.) จะดาหน้าออกมายืนยัน นั่งยันไม่กระทบต่อการทำงานของรัฐบาล เพราะศาลไม่ได้สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องถอดถอนนายกฯ จากตำแหน่ง ย่อมทำให้สถานะนายกฯ “ยืนอยู่บนเส้นด้าย” จะขับเคลื่อนนโยบายเรือธงอย่างนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้ายก็ต้องรอความชัดเจนจากศาลก่อนอยู่ดี
ท่ามกลางข้อกังขาจากผู้คนถึงเบื้องหลังการยื่นถอดถอนนายกฯในครั้งนี้ มีใครหรือ “ไอ้คุณโม่ง” ที่ไหนชักใยอยู่เบื้องหลัง? ทำไมจู่ๆ สว.ที่หมดวาระกันไปแล้ว ถึงได้ลุกขึ้นมาแผงฤทธิ์ได้ หากไม่มีใครชักใยอยู่ข้างหลังคงไม่สามารถจัดทัพให้ สว.ตบเท้าเขย่าเก้าอี้นายกฯ ได้อย่างพร้อมเพรียงได้แน่
เช่นเดียวกับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ และ รมต.พลังงาน ที่กำลังงานเข้าเป็นรายวัน จากการที่กระทรวงพลังงานต้อง “ลอยแพ” ราคาน้ำมัน หลังสิ้นสุดมาตรการด้านภาษีในการตรึงราคาน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซินไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังผลให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน (กบน.) และ ครม. ไฟเขียวการปรับขึ้นราคาดีเซลแบบขั้นบันไดไปก่อนหน้า
ส่งผลให้แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 72-78ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน แต่ราคาน้ำมันในบ้านเราก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 37-40 บาท/ลิตร ขณะที่ดีเซลนั้นได้ขยับขึ้นมา 3-4 ระลอกแล้ว โดยล่าสุดเพิ่งจะปรับขึ้นไปอีก 0.50 บาทต่อลิตรเป็น 32.44 บาท/ลิตร เมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีกเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่นับแสนล้านบาท
กระแสกดดันไปยัง รมต.พลังงาน ที่เคยทำคลอดประกาศกระทรวงพลังงานในการเกาะติดราคาน้ำมันในมือผู้ค้าตามมาตรา 7 แบบ “เรียลไทม์” ก่อนหน้านี้ จึงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบบเมื่อไหร่จะลดราคาขายปลีกดีเซลลงบ้าง จะลดราคาลงกี่โมงกี่ยาม
จะว่าไปก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจ รมต.พลังงาน ไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน ๆ ล้วนหนีไม่พ้นเป็นต้องถูกเพ่งเล็ง จะดำเนินนโยบายพลังงานไปในทิศทางใดก็ล้วนถูกเพ่งเล็งเต็มไปด้วยแรง “เสียดทาน” รอบด้านทั้งนั้น
ทั้งที่หากทุกฝ่ายจะย้อนไปพิจารณาผลงานของพลังงานในห้วงที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า โดดเด่นที่สุดในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน จากการดำเนินนโยบายตรึงราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้าในมือประชาชน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนด้านราคา
ยิ่งในส่วนของไฟฟ้าและค่าเอฟที (FT) ที่ก่อนหน้ามีแนวโน้มจะทะลักขึ้นไปถึง 4.65-5 บาทเศษต่อหน่วยนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า รมต.พลังงาน ที่ใช้กลไกการบริหารจัดการหลากรูปแบบในการตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย มีการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ ด้วยการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ใช้ก๊าซในราคาพูลก๊าซ คือ ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงไปได้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงในการปรับโครงสร้างพลังงานประเทศในระดับหนึ่ง
หาก รมต.พลังงาน เป็น “ร่างทรง” ของใครจริงๆ ป่านนี้ ประชาชนคนไทยคงได้หืดจับหายใจไม่ทั่วท้องกันไปแล้ว
เห็นการกวักมือเรียกพรรคก้าวไกล (กก.) หรือเครือข่ายพลังงานทั้งหลายให้ช่วยกันจับตามอง “กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการพลังงาน หรือ กกพ.” กันแล้ว ก็อยากเสนอให้พรรคก้าวไกลไม่ลองล้วงลูกลงไปตรวจสอบโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมูลเอาไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน (7 ก.ย.65)
โดยมีกลุ่มทุนรับเหมายักษ์ที่ทุกฝ่ายรู้กันดี เพราะ “กินรวบ” โครงข่ายรถไฟฟ้าและทางด่วนทั้งหลายแหล่อยู่ในมือเป็นผู้ชนะประมูล ด้วยข้อเสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐ 78,288 ล้านบาทเศษ เทียบกับราคาที่คู่แข่ง บริษัท บีทีเอส โฮลดิ้ง และกลุ่ม BSR ที่เสนอไว้ในการประมูลครั้งแรกแค่ 9,635 ล้านบาท หรือมีส่วนต่างราคามากกว่า 68,000 ล้านบาท
แปลให้ง่าย รายหนึ่งเสนอผลตอบแทนแก่รัฐ 30 ปีร่วม 2 แสนล้าน และเสนอของบอุดหนุนก่อสร้างจากรัฐแค่ 9,635 ล้านบาท ขณะที่อีกรายที่ถูก “อุปโลกน์” ว่าเป็นผู้ชนะประมูลเสนอผลตอบแทนแก่รัฐแทบจะเป็น 0 แต่ขอเงินอุดหนุนจากรัฐทะลักไปกว่า 78,000 ล้านบาท
พรรคเพื่อไทยเองเมื่อครั้งที่ยังเป็นฝ่ายค้านยังร่วมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมต.คมนาคม ที่กำกับดูแลโม่แป้งโครงการนี้ รวมทั้งร่วมยื่นร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เข้ามาตรวจสอบด้วย แต่พอตัวเองจับพลัดจับผลูมาเป็นรัฐบาล และกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ก็ “กลับลำ 360 องศา” หันมากระเตงผลประมูลอื้อฉาวที่ว่านี้ โดยหวังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบ จะได้ปิดจ๊อบโครงการ 1.42 แสนล้านนี้เสียที
“โจ๋งครึ่ม” กันซะขนาดนี้ พรรคก้าวไกลไม่หือไม่อืออะไรเลยหรือ????
แก่งหิน เพิง