ความพยายามในการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” เพื่อ “ปลดล็อค” ผ่าทาทางตันปัญหาการระดมทุนจากสถาบันการเงินมาดำเนินโครงการ เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้... ต้องระวังบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นกับคนรถไฟที่เคยแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการขนาดใหญ่มาถึงขั้นเข้าคุกมาแล้ว”
หลังจากบริษัทเอกชนออกมายอมรับ ดอดทำเรื่องขอเจรจาคู่สัญญาฝ่ายรัฐ เพื่อขอให้รัฐร่นเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้าง (เงินร่วมลงทุนตามมติ ครม.) จำนวน 108,000 ล้านบาทเศษออกมาใช้ก่อน รวมทั้งยังขอแก้ไขเงื่อนไขของสัญญาอื่น ๆ ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประกวดาราคา (TOR) และสัญญาสัมปทานที่ได้ลงนามกันไว้นั้น
อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะ “ล้วงตับ” ดึงเม็ดเงินสนับสนุนการก่อสร้างจากภาครัฐออกมาใช้ก่อน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตามเงื่อนไขประกวดราคา (TOR) และสัญญาร่วมลงทุนฯกำหนดไว้ชัดเจน รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนการลงทุนเมื่อผู้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว (ปีที่ 6 ของสัญญา) โดยจะชำระคืนในระยะเวลา 10 ปี พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 2.35 หรือตกปีละ 13,900 ล้านบาท
แม้จะอ้างว่า การปรับร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐในลักษณะ “สร้างไป-จ่ายไป” ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณและดอกเบี้ยลงไปกว่า 27,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินลงทุนในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 9,200 ล้าน ที่การรถไฟฯ ไม่ต้องแบกรับภาระเองเพราะเอกชนผู้รับสัมปทานจะรับภาระแทนทั้งหมด
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในส่วนของเอกชนนั้น ไม่เพียงจะลดภาระในการระดมทุนไปร่วม 200,000 ล้านบาทแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ ต้นทุนจากการระดมทุนที่แทบจะทำให้เอกชน “จับเสือมือเปล่า”
ก่อให้เกิดคำถามว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นธรรมกับผู้เข้าประมูลที่ไม่ถูกคัดเลือกหรือไม่ เพราะการที่รัฐชี้ขาดให้กลุ่มทุน ซีพี. และพันธมิตร เป็นผู้ชนะประมูลไปก็ด้วยข้ออ้างเอกชนเสนอเงื่อนไขขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐต่ำกว่าคู่แข่ง แต่การขอแก้ไขสัญญาในครั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งในครั้งนั้นอย่างชัดเจน
แหล่งข่าวในแวดวงก่อสร้าง ยังฝากข้อคิดไปยังฝ่ายบริหารการรถไฟฯ และ สกพอ. ถึงการตั้งแท่นเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี่ว่า ควรจะได้ศึกษาบทเรียนของผู้บริหารรถไฟในอดีตต่อกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา (TOR) และสัญญาที่ได้ลงนามกันไว้
โดยมีกรณีศึกษาการแก้ไขสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงค์” ที่การรถไฟฯ และ สกพอ. ตั้งแท่นจะให้เอกชนผู้รับสัมปทานยืดจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ออกไปอยู่นี้ ซึ่งแต่เดิมโครงการนี้การรถไฟฯ ได้เปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาก่อสร้าง ภายใต้วงเงิน 25,917 ล้านบาท โดยเอกชนต้องจัดหา “ซัพพลายเออร์เครดิต Supplier Credit” เข้ามาดำเนินการเช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินทุกกระเบียดนิ้ว
ก่อนที่ในภายหลังจะมีการตรวจสอบ พบว่า มีการแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา TOR ในเรื่องของ “ค่าธรรมเนียมเงินกู้” ที่เดิมไม่ได้กำหนดเอาไว้ แต่มีการแก้ไขสัญญากำหนดค่าธรรมเนียมขึ้นมาจำนวน 1,600 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบในภายหลังพบว่า ผู้รับเหมามีการเบิกค่าธรรมเนียมส่วนนี้ไปเพียง 400 ล้านบาทเท่านั้น อีก 1,200 ล้านบาท ไม่รู้ไหลไปเข้ากระเป๋าใคร จนทำให้รัฐเสียหายจนมีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ ปปช. ให้เข้ามาตรวจสอบ
ก่อนที่ในท้ายที่สุด ปปช. มีมติชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าการรถไฟฯ กับพวก ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยตรง ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะมีคำพิพากษาศาลอุธรณ์ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ให้จำคุกนายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นระยะเวลา 9 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุก 6 ปี เพราะมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์เอกชนในการแก้ไขสัญญาก่อสร้าง ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล (TOR)
แล้วกรณีที่การรถไฟฯ และบริษัทเอกชนคู่สัญญากำลังตั้งแท่นเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่นอกจากจะให้ยืดจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 10,671 ล้านบาท ให้แล้วยังตั้งแท่นจะแก้ไขสัญญาหลัก เพื่อปรับร่นเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างของภาครัฐมาลงทุนให้ก่อน
กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จนแทบจะเรียกได้ว่ายิ่งกว่า “จับเสือมือเปล่า” ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้ว !!!