ตามคาดศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง รฟม.-กรรมการคัดเลือก ปมปรับหลักเกณฑ์ประมูล ไร้กีดกัน-เอื้อประโยชน์ ส่วนปมส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน ที่ประเทศต้องจ่ายไม่อยู่ในฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลปกครองสูงสุด วันนี้ (12 มิถุนายน) ว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีพิพาทโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ข้อหาการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีการกำหนดหลักเกณฑ์กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือก กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโดยเปลี่ยนแปลง คุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่าง ไปจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี มีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องศาล
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนศาลปกครองชั้นต้น ให้ยกฟ้องเนื่องจากวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ดุลยพินิจจนหมดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและจำเป็นแห่งกรณี เพื่อประโยชน์ของรัฐไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมคัดเลือก
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา ข้อเสนอ 2 ที่ 2 เขาเสนอทางเทคนิคให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เป็นการปรับเกณฑ์คะแนนเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถดำเนินโครงการให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้
ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอ 2 ที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ยังได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดข้างต้นนั้น ไม่ได้ผิดไปจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้า เพราะก่อนหน้านี้ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวมาแล้ว เห็นสมควร ยกฟ้องกรณีดังกล่าว ทำให้คาดว่าหลังจากนี้ ในส่วนของ รฟม. คงจะนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาพิจารณา เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเตรียมการลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูล โดยคาดว่า จะเสนอผลเจรจาและร่างสัญญามายังกระทรวงคมนาคม ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะทำให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเดินหน้าลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะที่เป็นผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐได้ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะฟอกขาวผลการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. ได้ประกาศผลคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2565 หรือเมื่อเกือบ 2 ปีมาแล้ว แต่หนทางในการที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม จะไฟเขียวให้ รฟม. ลงนามในสัญญาโครงการสายสีส้ม ยังคงมีอีกมาก เนื่องจากยังคงมีเรื่องร้องเรียนคาราคาซังอยู่ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกถึง 2 เรื่อง ทั้งกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนไต่สวนการฮั้วประมูลโครงการนี้ เมื่อปลายปี 2564 และยังมีคดีร้องเรียนที่ 6 พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ที่ได้ยื่นเรื่องร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เข้ามาไต่สวนการฮั้วประมูลโครงการสายสีส้ม และส่วนต่างการประมูลที่มากกว่า 68,000 ล้านบาทด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของส่วนต่างราคาที่บริษัทเอกชนที่ได้รับการประกาศให้เห็นผู้ชนะประมูลที่สูงกว่าคู่แข่ง ราคาที่เคยมีการนำเสนอเอาไว้ในการประมูลครั้งแรกมากกว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินส่วนต่างดังกล่าวถือเป็นเม็ดเงินที่ทั้งศาล และประชาชนคนไทยต้องร่วมกันจ่ายจ่ายชดเชยให้แก่งานก่อสร้างในโครงการนี้ ผ่านวงเงินสนับสนุนงานโยธาที่ ครม. อนุมัติไว้
“หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ใครจะเป็นผู้เสียสละรับผิดชอบวงเงินส่วนเกินที่ประเทศจะต้องจ่ายชดเชย เป็นค่างานโยธา จากที่ควรจะอยู่ในระดับ 9,635 ล้าน แต่กลับจะต้องมาจ่ายสูงกว่า 78,288 ล้าน ซึ่งหากนำเม็ดเงินดังกล่าวไปก่อสร้างรถไฟฟ้า จะสามารถสร้างรถไฟฟ้า สายสีเงิน หรือสายสีเทา ได้ถึง 2 สายด้วยกัน ในที่สุดประชาชนผู้เสียภาษีต้องรับผิดชอบเงินก้อนโตนี้”