กรณีข่าวฉาวโฉ่ถุงขนมพันล้านแค่สิวๆ วงการรับเหมาสะพัดจับตา “ถุงขนมสีส้ม” หมื่นล้าน หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาขั้นตอนประมูลถูกต้อง โปร่งใส-ไร้กีดกัน จับตาคมนาคมกระเตงผลประมูลค้างปีฝ่าด่าน ครม. หลังเสร็จสิ้นอภิปรายงบฯ ปี 68
หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีพิพาท ประกวดราคาหาเอกชนเข้าร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาท โดยศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกได้ใช้ดุลยพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณี เพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงแก่ผู้รับเหมารายใด และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือก
ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงคมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.จะนำเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และผลประกวดราคาเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อนลงนามในสัญญาต่อไป พร้อมยืนยันว่า ไม่มีเหตุผลใดที่กระทรวงคมนาคมจะไม่เห็นชอบด้วย
เบื้องลึกการเมืองไร้ทางเลือก-เกี้ยเซี้ยะทุนรับเหมา
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ให้เหตุผลที่จะต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป โดยอ้างว่า หากไม่เดินหน้านำเสนอผลประกวดราคาต่อ ครม.แล้ว อาจถูกบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลฟ้องร้อง ทั้งที่ในคำพิพากษาของศาลระบุชัดเจนว่า ทุกอย่างเป็นอำนาจของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะตัดสินใจว่า จะยกเลิกประกวดราคา (ล้มประมูล)หรือดำเนินการแก้หลักเกณฑ์การประมูลอย่างไรก็สามารถทำได้ ดังนั้น ประเด็นการถูกฟ้องร้องจึงเป็นเรื่องแก้เกี้ยวเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการลงนามในสัญญาผูกพัน ภาครัฐย่อมยกเลิกประกวดราคาได้เช่นเดียวกับกรณีการประมูลครั้งแรก
“ขนาด รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกลางอากาศ และยกเลิกผลประกวดราคาศาลยังมีคำพิพากษาว่า เป็นอำนาจที่ทำได้ แล้วนับประสาอะไรกับการที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐร่วมแสนล้าน เพื่อแลกกับการล้างไพ่จัดประมูลใหม่อย่างโปร่งใส”
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวสะพัดในวงการรับเหมาว่า หากการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าไปถึงขั้นลงนามในสัญญาได้ จะมีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับแต่เคยมี โดยมีรายงานว่า ฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุนรับเหมาได้มีการเจรจาจัดสรรผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ไว้หมดแล้ว โดยเม็ดเงินจะถูกจัดสรรไปยังนักการเมืองใหญ่ที่เป็นคนชงเรื่องนี้ถึง 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะกระจายลงไปยังพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรคที่มีส่วนผลักดันโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นหรือไม่?
ย้อนรอยผลประโยชน์รัฐถูกรุมทึ้ง!
แหล่งข่าวในวงการรับเหมายังได้ย้อนรอยถึงความไม่ชอบมาพากลในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ไม่อยู่ในสำนวนไต่สวนมูลฟ้อง และกระบวนการฟ้องร้องมาตั้งแต่ต้น ก็คือ ความไม่ชอบมาพากลในการประมูลโครงการนี้ที่มีการเล่นแร่แปรธาตุ และเล่นเอาเถิดกับการประมูล ดังนี้..
1. ในการประมูลครั้งแรกในปี 2563 เมื่อกลุ่มทุนรับเหมาที่คาดหวังจะได้สัมปทานเห็นเค้าลางว่า กลุ่มตนจะพ่ายแพ้การประมูล จึงใช้กำลังภายในวิ่งเต้นให้มีการแก้เกณฑ์ประมูล จากการชี้ขาดด้านราคา (Price performance) มาเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาควบคู่กับด้านเทคนิค ทั้งที่เหตุผลในการแก้เกณฑ์ดังกล่าวย้อนแย้งตัวเอง 100% แต่ก็มีการอุ้มสมกันไป ก่อนที่ รฟม. จะชิงยกเลิกประกวดราคาในท้ายที่สุด เมือเห็นว่าไม่อาจจะทัดทานคำสั่งศาลที่ให้กลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิม
2. การประมูลครั้งหลัง ที่ รฟม. ปัดฝุ่นกลับไปอาเกณฑ์ประมูลครั้งแรกกลับมาใช้ แต่มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลที่ต้องมีผลงานด้านโยธากับหน่วยงานภาครัฐในประเทศ 3 ด้าน ซึ่งเป็นการล็อคสเปคกีดกันรับเหมาต่างชาติ ไม่ให้เข้ามาประมูลได้ แต่กระนั้นกลับพบว่า ผู้รับเหมาที่ถูกยกขึ้นมาเป็นคู่เทียบกลับมีปัญหาด้านคุณสมบัติ ทั้งกรณีผู้บริหารและกรรมการถูกดำเนินคดีอาญาขัดประกาศคณะกรรมการพีพีพีในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการรัฐ
3. นอกจากนี้ บริษัทผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ที่ถูกดึงเข้ามาร่วมประมูลก็ขาดคุณสมบัติ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประมูล เพราะไม่มีเอกสารยืนยันการเข้าร่วมลงทุน มีเพียงหนังสือแสดงเจตจำนงค์จะเข้ามาร่วมดำเนินโครงการภายหลังได้ผู้ชนะประมูลแล้วเท่านั้น ไม่ได้เป็นการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) ตามเงื่อนไขประกวดราคา อีกทั้งบริษัทดังกล่าวยังมีผลงานเดินรถที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประกวดราคาอีกด้วย แต่คณะกรรมการประกวดราคา และ รฟม. ก็ปล่อยผ่านโดยอ้างว่า ค่อยไปพิจารณาภายหลังหากบริษัทนี้ชนะประมูล
4. การประมูลส่อให้เห็นถึงการฮั้วประมูลชัดเจน เพราะข้อเสนอราคาของบริษัทรับเหมาที่ถูกดึงเข้ามาเป็นคู่เทียบ ที่เสนอราคาสูงกว่า 1 แสนล้านบาท สูงกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ และสูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ในเงื่อนไขประกวดราคา ส่อให้เห็นว่าจงใจที่จะเสนอราคาเพื่อไม่ให้ได้รับการพิจารณามาตั้งแต่ต้น แต่เป็นการยื่นประมูลเพื่อให้กระบวนการประกวดราคาสมบูรณ์ มีคู่เทียบคู่แข่งขันเท่านั้น เป็นพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นถึงการฮั้วประมูลโดยชัดแจ้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาสอบสวน
5. ยังมีกรณีที่บริษัทรับเหมาที่อ้างว่าเป็นผู้ชนะประมูลเพราะยื่นข้อเสนอทางการเงินสุทธิ (ขอสนับสนุนจากรัฐต่ำสุด) 78,287.28 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่บริษัทเอกชนที่เข้าประมูลครั้งแรก แต่ รฟม. ชิงล้มประมูลไปก่อน ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอทางการเงินสุทธิไว้เพียง 9,635 ล้านบาทเท่านั้น มีส่วนต่างราคามากกว่า 68,000 -75,000 ล้านบาท ทั้งที่เนื้องานในการดำเนินโครงการยังคงเดิมทุกกระเบียดนิ้ว จนเป็นที่มาของการที่พรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวน
6. ยังมีกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้สรุปสำนวนไต่สวนกรณีฮั้วประมูลโครงการนี้ และส่งสำนวนไต่สวนกว่า 14 แฟ้มกว่า 6,000 หน้าไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตั้งอนุกรรมการไต่สวน นอกจากนี้ ดีเอสไอ ยังมีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงคมนาคม และ รฟม. เพื่อให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีจัดฮั้วประมูลโครงการสายสีส้ม และพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลเพิ่มเติม โดย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ที่กำกับดูแล รฟม. ได้แทงเรื่องแจ้งไปยัง รมว.คมนาคม เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ รมว.คมนาคม กลับเก็บงำแฟ้มดีเอสไอโดยตัดบทให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน
เตือน “ครม.เศรษฐา” ดูบทเรียนโครงการจำนำข้าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากนี้ไปคงขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ จะกล้าไฟเขียวเห็นชอบโครงการนี้ เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาหรือไม่ จากที่ตนเองเคยอภิปรายสับเละโครงการนี้มาก่อน รวมทั้ง รมต.บางคน ยังเคยยกมือคัดค้านผลประกวดราคาโครงการนี้มาแล้ว
“หาก ครม.ไฟเขียวโครงการนี้ ผลที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เวลานี้แน่ คงไปวัดดวงความเสี่ยงในอนาคต หาก ป.ป.ช. และ ดีเอสไอ ปัดฝุ่นสำนวนขึ้นมาไต่สวนกรณีการร้องเรียนการฮั้วประมูลและเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนรับเหมาบางราย ถึงเวลานั้นก็อาจจะลงเอยเหมือนกรณีโครงการจำนำข้าวที่ ครม. ถูกดำเนินคดีไล่ยกชุด”
แต่ในส่วนของบิ๊กคมนาคม (บางราย) นั้น ทุกฝ่ายต่างเชื่อมือว่า กรณีการร้องเรียนประมูลอื้อฉาวโครงการนี้ คงไม่กระทบต่อตำแหน่งของเจ้าตัวอย่างแน่นอน เพราะขนาดคดี “สินบน” กรณีจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิที่บริษัทต้นเรื่องถูกดำเนินคดีในสหรัฐ แต่นักการเมืองใหญ่รุ่นลายครามของไทยก็ลอยตัวมาแล้ว!