สรรหาผู้ว่ารถไฟคนใหม่สะดุดตอ หลังมือดีปูดข้อมูล แคนดิเดทตัวเต็ง สายตรงการเมืองส่อขัดคุณสมบัติ เหตุเป็นคู่สัญญาเช่าที่ดินรถไฟมาหมาดๆ ขณะฝ่ายการเมืองยังไม่ละความพยายามดึง “เนติบริกร” ผ่าทางตันให้ ก่อนไปน้ำขุ่นเซ็นสัญญาในนามองค์กร ไม่ได้ผูกพันตัวบุคคล ไม่ถือว่าขัดแย้ง
…
หลังจากคณะกรรมการการรถไฟฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ คนใหม่ แทน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่ครบวาระไปตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมี นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในฐานะกรรมการ รฟท. เป็นประธาน โดยมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจำนวน 4 คน ประกอบด้วย..
1. นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟฯ 2. นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3. นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด และ 4. นายอภิชัย นิมจิรวัฒน์ กรรมการ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AIT)
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “เนตรทิพย์ออนไลน์” ว่า หลังมีกระแสข่าวสะพัด “แคนดิเดทตัวเต็ง” สายตรงจากฝ่ายการเมืองที่หนุนให้ข้ามห้วยให้มาสมัครเป็นผู้ว่ารถไฟ อย่าง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ.) ส่อมีปัญหาด้านคุณสมบัติ เนื่องจาก กนอ. มีสัญญาเช่าที่ดินระยะยาวกับการรถไฟฯ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงเข้าข่ายเป็นผู้บริหารหน่วยงานที่มีส่วนได้เสียและเป็นคู่สัญญาฃกับการรถไฟฯ มาก่อน ทำให้อาจขาดคุณสมบัตรข้อ 3.1.11 และ 3.1.12 นั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ฝ่ายการเมืองที่ได้รับรายงานกรณีดังกล่าวแล้ว ได้มีการหารือกรณีดังกล่าวกับนักกฎหมายที่เป็นกุนซือใหญ่ของรัฐบาล เพราะยังคงมีความต้องการผลักดันนายวีริศให้เข้ามารับตำแหน่งนี้ โดยมีการหาทางออกด้วยการยังคงชงชื่อนายวีริศเป็นแคนดิเดทที่มีคะแนนรวมสูงสุด ส่วนปัญหาในเรื่องคุณสมบัติขัดแย้งนั้น ได้หาทางออกโดยอ้างว่า เป็นการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินรถไฟฯ ในนามองค์กร กนอ. ซึ่งเป็นนิติบุคคล ในฐานะผู้ว่าการนิคมฯ ไม่ได้เป็นการลงนามโดยส่วนตัว ไม่มีผลผูกพันเป็นการส่วนตัวจึงถือว่าไม่เข้าข่ายมีคุณสมบัติขัดแย้ง
ขณะที่กรรมการคัดเลือกบางรายตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้อาจเข้าข่ายคุณสมบัติขัดแย้งเช่นเดียวกับกรณีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผู้สมัครที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เข้ามาสมัครด้วย แต่เนื่องจากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้มีการทำสัญญาเช่ารถตู้โดยสารยูโรทูกับ ทอท. เพื่อเป็นรถเวียนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงเป็นกรณีที่ ขสมก. มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการหลัก ทอท. ทำให้ตกคุณสมบัติสมัครคัดเลือกกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ไป
และเป็นกรณีเดียวกับการสรรหากรรมการ กสทช. ก่อนหน้าที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. ซึ่งตกคุณสมบัติเนื่องจากเป็นผู้บริหารหน่วยงาน กสทช. ที่มีสถานีวิทยุอยู่ในกำกับดูแลและถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับหน่วยงาน กสทช. มาก่อนจึงไม่ผ่านคุณสมบัติการสมัครเข้าสรรหาเป็นกรรมการ กสทช.
ทั้งนี้ ในส่วนของคุณสมบัติผู้สมัครตามประกาศสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ กำหนดไว้ข้อ 3.1.11 ไม่เป็นหรือภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันได้รับแต่งตั้งไม่เคยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการการรถไฟฯ เว้นแต่การเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการในนิติบุคคลดังกล่าวโดยการมอบหมายของการรถไฟฯ
ข้อ 3.1.12 ไม่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของการรถไฟฯ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นกรรมการของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ประกอบกิจการอันมีสภาพเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการการรถไฟฯ ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของตนหรือประโยชน์ผู้อื่น หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับสัญญากับการรถไฟฯ หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การรถไฟฯ ไม่ว่าทางตรงหรือโดยทางอ้อมฯ