"….เศรษฐา ลงพื้นระยอง กำชับเลขาฯอีอีซีเร่งเมกะโปรเจ็กต์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมโครงการสนามบินอู่ตะเภา หวังดึงภาคอุตสาหกรรมร่วมลงทุน .....”
…
เสียงสะท้อนของสื่อต่างๆ ที่มีต่อความเคลื่อนไหวจากการที่จู่ๆ นายกเศรษฐา ทวีสิน ก็ลุกขึ้นมา เดินสายลงไปตรวจงานความคืบหน้าโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะ 2 โครงการลงทุนหลักอย่าง “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก”...
งานนี้ทำเอานักลงทุนน้อยใหญ่แปลกประหลาดใจไปตามๆ กัน เพราะแต่ไหนแต่ไรรัฐบาลนายกฯเศรษฐา (ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) ที่บริหารประเทศมาจะครบขวบปี แทบไม่เคยลงไปให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนเหล่านี้ที่ถือเป็นมรดกตกทอดมาจากรัฐบาล “ลุงตู่” แม้แต่น้อย!
วันๆ เอาแต่ตีปี๊บโครงการ “แลนด์บริดจ์” ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ทั้งที่ยังเป็นแค่แนวคิดบนแผ่นกระดาษ ไม่รู้จะต้องหาวเรอรอไป พ.ศ.ไหน แต่ก็ยังอุตส่าห์หอบไปโร้ดโชว์ต่างประเทศเป็นวรรคเป็นเวร
แต่กับโครงการลงทุนในอีอีซีที่กล่าวได้ว่ามีการลงนามในสัญญากันไปหมดแล้ว บางโครงการอย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น มีการลงนามในสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุนซี.พี.และพันธมิตรไปตั้งแต่ตุลาคม 2562 ผ่านมาวันนี้จะ 5 ปีเข้าไปแล้วยังไม่เปิดหวูดก่อสร้างแม้แต่น้อย ทำเอาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกที่ยึดโยงอยู่กับโครงการนี้พลอยติดหล่มยักแย่ยักยันไปด้วย
นัยว่า ในการลงพื้นที่ตรวจดูความคืบหน้าหนนี้ นายกฯ ได้ประจักษ์แก่ตาตนเองแล้ว ไอ้ที่ไปโร้ดโชว์ชักชวนนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยนั้นแทบจะสูญเปล่า หากโครงการที่เป็นแม่เหล็กของเขตอีอีซี 2 โครงการหลักนี้ไม่ขยับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นายกฯ เศรษฐาจึงทุบโต๊ะเปรี้ยง! กำชับเป็นนโยบายให้เลขาธิการอีอีซี เร่งแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้ได้ข้อยุติภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ในต้นปีหน้า หาไม่แล้วจะส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นและการลงทุนในโครงการอื่น ๆ ตามมา
แต่จะจบอย่างไร จะเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานกันอย่างไรถึงจะทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ลงเอยด้วยการที่ ครม.ชุดนี้อาจถูกฟ้องกราวรูดเอาได้นั้น เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายขยาดแทน แถมยังแปลกประหลาดใจอย่างที่เกริ่นไว้แต่แรก
การที่จู่ๆ “นายกเศรษฐา” ลุกขึ้นมาไล่เบี้ยเร่งรัดโครงการนี้มีอะไรในกอไผ่หรือไม่?
ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายได้รับรู้ข่าวสารความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุนเจ้าสัวซีพี.ที่เป็นผู้ชนะสัมปทานโครงการนี้แบบ “ม้วนเดียวจบ” ก่อนจะมีการรวบรัดเปิดทำเนียบลงนามในสัญญาสัมปทานกันไปเมื่อ 24 ตุลาคม 2562 ท่ามกลางกระแสสะพัดในห้วงเวลานั้นว่า สัญญาสัมปทานที่เซ็นกันไปยังมีเงื่อนไขอีกยุบยั่บที่ยังเจรจากันไม่ลงตัว
ก่อนที่บริษัทกับคู่สัญญาฝ่ายรัฐคือการรถไฟฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะลุกขึ้นมาเจรจาแก้ไขสัญญากันต่อ ด้วยข้ออ้างโครงการเผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงขั้นที่บริษัทไม่สามารถจะระดมทุนจากสถาบันการเงินมาลุยไฟได้
เอาเป็นว่า แม้แต่ค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 10,0671 ล้าน ที่บริษัทต้องจ่ายให้การรถไฟฯ ภายใน 2 ปีนับแต่ลงนามในสัญญา (24 ตุลาคม 2564) ก็ยังต้องร้องขอชีวิต ขอผ่อนชำระไปถึง 7-10 ปีว่างั้นเถอะ
ก่อนจะมีความพยายามเจรจาแก้ไขสัญญายื่นเงื่อนไขขอให้รัฐปรับร่นระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างงานโยธา หรือเงินร่วมลงทุนโครงการตามมติ ครม. จำนวน 119,000 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น จากสัญญาเดิมที่รัฐจะจ่ายชดเชยให้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ (ปีที่ 6 ของสัญญา) โดยขอปรับมาเป็น นับแต่เดือนที่ 18 หรือปีที่ 2 ของสัญญาในลักษณะสร้างไป-จ่ายไป
ท่ามกลางข้อกังขาของหลายฝ่าย มันคือการดึงเอาเงินรัฐมาลงทุนแทนเอกชนทั้งดุ้นหรือไม่ สอดคล้องกับเงื่อนไขประกวดราคาตรงไหน (เอาปากกามาวง) และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคู่แข่งที่พ่ายประมูลในครั้งนั้นฟ้องร้องเอาหรือไม่
ทำให้เส้นทางการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานคาราคาซังมากระทั่งปัจจุบัน จนช่วงหนึ่งมีข่าวว่า “เจ้าสัวซีพี.” ถึงกับถอดใจกับโครงการนี้ เพียงแต่ยังหา “รันเวย์” ร่อนลงไม่เจอ เพราะหากจะถอนตัวก็จะถูกขึ้น “แบล๊กลิสต์” เป็นผู้ทิ้งงานของรัฐทันที กลายเป็นมหากาพย์ของการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานสุดมาราทอนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ประเภทที่หากนายกฯ ไม่ลงมาทุบโต๊ะ คู่สัญญาโครงการนี้คือ การรถไฟฯ สกพอ. และบริษัทเอกชนก็จะ “ดึงเช็ง” เจรจามันข้ามภพข้ามชาติกันไปเลย!!!
ก่อนที่จะมีรายงานล่าสุดว่า กลุ่มทุนซีพี. ยังคงมีลูกฮึดที่จะลุยไฟโครงการนี้ หลังจากมีการเจรจากับ “พันธมิตร” สุดบิ๊กบึ้มจากจีนที่พร้อมจะเข้ามาร่วมลุยไฟเดินหน้าโครงการนี้ แต่ต้องแลกกับการที่รัฐบาลต้องไฟเขียวการตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ภายใต้โครงการนี้ ที่คาดว่าจะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่สนับสนุนกิจการเชิงพาณิชย์ หรือสถานีมักกะสัน หรือศรีราชา-พัทยา แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งทางกลุ่มทุนซีพี. มีแผนจะพัฒนาทำแลทองเหล่านี้ให้เป็นโครงการสุดบิ๊กบึ้มอยู่แล้ว
นัยว่า มีการ “ดีล” เงื่อนไขการเดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินนี้ ไปจนถึงขั้นที่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ตอบรับหลักการ และกลุ่มทุนซีพี.เอง ก็พร้อมที่จะกัดฟันลุยไฟโครงการนี้เต็มสูบแล้วด้วย
นั่นจึงเป็นที่มาของการที่การรถไฟฯ สกพอ. ถูกสั่งให้ลุยไฟเจรจาเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาโครงการนี้แบบหามรุ่งหามค่ำให้ได้ข้อยุติภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ให้ได้ในปีหน้า และเป็นที่มาที่ “นายกฯ เศรษฐา” (ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) ต้องบากหน้าลงไปลุยไฟจี้ด้วยตนเอง
ว่าแต่อะไรคือ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”?
หากไปถามบิ๊กป้อมก็คงตอบ ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ อีกตามเคย