“ธรรมภิบาล-ความโลภ ของผู้บริหาร กับการเอาหุ้นไปตึ๊งนอกระบบ-รายย่อยรับกรรม”
…
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ SHINESTOCK แฉเบื้องลึกภาวะตลาดหุ้นไทยดิ่งเหวไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า..
ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นผลกระทบจากการนำหุ้นของบรรดาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ไปวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอวงเงินมาร์จิ้น หรือขอเรียกง่ายๆ ว่า “เอาหุ้นไปตึ๊ง” กับโบรกเกอร์ เพื่อนำวงเงินไปซื้อหุ้นตนเอง , หุ้นบริษัทในกลุ่มพันธมิตร หรือหุ้นตัวอื่นๆ
โดยมาก หากผู้บริหารที่ไม่ได้มีฐานะที่ร่ำรวยมาก่อน แต่ภายหลังจากเข้าตลาดหุ้นมาแล้ว เงินสดส่วนใหญ่อยู่ในตัวบริษัท ไม่สามารถนำออกมาได้ จะมีเพียงแค่ หุ้นที่ตนถืออยู่ หรือจะเรียกว่ามี แต่Wealth ซึ่งสามารถนำเอาไปวางเป็นหลักประกันให้ได้วงเงินเอาไปซื้อหุ้นเพิ่มได้
ที่ผ่านมา การนำหุ้นไปตึ้ง ถือเป็นเรื่องปกติ และมีทำกันมาตลอด แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ภาวะตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลง แบบยาวๆ หรือนานเกิน 1 ปีขึ้นไป เราจะเริ่มเห็นร่องรอยของระเบิดเวลาที่เริ่มสร้างความเสียหาย จนกลายมาเป็นสโนว์บอล อย่างที่เห็นในวันนี้
ลักษณะ การเอาหุ้นไปตึ๊งของผู้บริหาร มีทั้งหมด 3 ช่องทาง คือ
1. เอาหุ้นไปวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น(Margin Account) หรือ เครดิตบาลานซ์ (Credit Balance) กับโบรกเกอร์ เพื่อขอเงินกู้ที่ออกมาในรูปของวงเงินมาซื้อหุ้น
ยกตัวอย่าง ผู้บริหารบริษัท AA นำหุ้นตนเอง (AA) มาวางเป็นหลักประกันจำนวน 100 ล้านหุ้น ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 3 บาทต่อหุ้น เท่ากับ wealth ที่เอาไปวางหลักประกัน อยู่ที่ 300 ล้านบาท
การให้หลักประกัน ขึ้นอยู่กับการ ประเมินของนักวิเคราะห์ของแต่ละโบรกเกอร์ ก่อนว่า หุ้นตัวนี้จะสามารถปล่อยให้ได้เท่าไหร่ ถ้าเป็นหุ้นดี ก็จะปล่อย 50% ซึ่งเท่ากับว่า จะได้วงเงิน 150 ล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของwealth ตอนที่เอาไปวาง แต่ถ้า 30% ก็จะได้วงเงิน 100 ล้านบาท ลดลงตามพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น
ภายหลังจากที่ปล่อยวงเงินไปแล้ว ผู้บริหารสามารถนำวงเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นตนเอง(AA) หรือ หุ้นตัวอื่นๆได้ ซึ่งในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของหลักประกันที่ด้อยค่าลง เช่น อัตราส่วนของเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) ที่ลดลงจะทำให้มีผลต่อจำนวนเงินสูงสุดที่สามารถเบิกได้(Lending Value) และราคาหุ้น ที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าหลักประกันที่กำหนดไว้ 20%ขึ้นไป ทางโบรกเกอร์ ก็จะเรียกหลักประกันเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกบังคับขาย (Force sell) ออกมา
2. การกู้แบบ Lombard loan คือการใช้ wealth ของสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ ไปวางเป็นหลักประกัน บวกกับเงินสดไปวาง เพื่อให้ได้วงเงินมา โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน
ยกตัวอย่าง ผู้บริหารหุ้น AA ต้องการกู้ Lombard Loan จะใช้เงินสด 5 แสนบาท บวกกับหุ้น AA ที่เกรดห้ามต่ำกว่า SET100 โดยคำนวนหลักประกันจาก ราคาหุ้นปิด ณ สิ้นวัน มูลค่า 5 แสนบาท รวมหลักประกัน 2 ประเภทดังกล่าว มูลค่า 1 ล้านบาท
โดยจะปล่อย LTV ของเงินสด จำนวน 95% หรือคิดเป็นจำนวนเงินสูงสุดที่เบิกได้ คือ 475,000 บาท ในส่วนหุ้น AA จะปล่อย LTV 60% หรือคิดเป็นมูลค่า 3 แสนบาท
การเอาหุ้นไปตึ๊ง 2 ประเภท ดังกล่าว เป็นการนำไปตึ้งในระบบ ซึ่งจะต้องมีลงทะเบียนรายชื่อ และสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของหุ้น ที่ถูกนำไปหลักประกัน เพื่อขอวงเงินมาร์จิ้น
เนื่องจากการกู้ในระบบ ที่ผ่านโบรกเกอร์ หรือ สถาบันการเงิน โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้บังคับให้โบรกเกอร์ ทุกแห่ง แจ้งข้อมูลหุ้นทุกตัว ที่โบรกฯ ปล่อยมาร์จิ้นให้กับลูกค้า
โดยสามารถดูได้ จากสรุปรายงานหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นทุกหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือน ย้อนหลังไป 1 เดือน
ลิ้งค์สรุปรายงานหุ้นที่วางเป็นหลักประกัน การชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น ณ เดือน พ.ค. 2567
https://www.set.or.th/th/market/statistics/market-statistics/margin-accounts
ทั้งนี้ การที่ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้ใช้บริการในการกู้ในระบบ 2 ประเภทที่กล่าวไปแล้วนั้น แบบเต็มวงเงิน
แต่ทางผู้บริหารเอง ยังมีความต้องการใช้เงินเพิ่มอีก ก็จะเอาหุ้นไปจำนำ (Pledge) นอกระบบ และจะขอเรียกว่า “การกู้นอกระบบ”
การกู้นอกระบบนั้น มีข้อดีที่การกู้ในระบบไม่สามารถให้ได้ คือ ผู้บริหาร หรือผู้ขอกู้ จะได้รับเป็น “เงินสด” จะมีตั้งแต่ 30-40% ของหลักประกันที่นำไปค้ำประกันไว้ โดยคิดจากราคาปิด ณ สิ้นวันที่มีการขอกู้
โดยจะมีการทำสัญญา ระหว่างเจ้าของหุ้น กับ ผู้ปล่อยกู้ ว่าจะมีกำหนดระยะเวลาการซื้อคืน หรือ ทำให้ออกของได้ในราคาที่สูงกว่าหลักเงินสดที่ได้ไป เมื่อไหร่
โดยในระหว่างที่รอให้ครบกำหนดระยะเวลาการกู้ ก็จะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้มีตั้งแต่ 1% ขึ้นไป (ต่อเดือน) แล้วแต่ตกลง หรืออาจจะถูกหักเป็นค่านายหน้า ให้กับคนที่พาผู้บริหารรายนั้นไปเจอแหล่งเงินกู้
วิธีการอีกทางที่ทำกัน คือการโยน big lot ออกไปเพื่อไม่ให้มีการระบุชื่อผู้ซื้อ ซึ่งในเอกสารของทางการ สามารถเลือกระบุช่องที่ให้ติ๊กว่า “ไม่ทราบผู้ซื้อ” ได้
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า การโยน big lot ทุกรายการจะต้องเป็นการเอาหุ้นไปกู้นอกระบบทุกกรณี แต่ถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่สามารถทำได้ และไม่ผิดกฎหมาย พอโยนออกไปแล้วก็จะมีการทอนกันนอกตลาด
สำหรับความเสี่ยงของการกู้นอกระบบ มีอยู่สูงมากกว่ากู้ในระบบ แต่ข้อดีคือ ได้ “เงินสด” ซึ่งแตกต่างจากการกู้ในระบบที่ได้แต่ “วงเงิน”
โดยการกู้นอกระบบ จะมี 2 แบบ คือ 1. จะเอาใบหุ้น ไปฝากไว้กับ ผู้ที่ปล่อยกู้ พร้อมทั้งเซ็นสลักหลัง โดยมีกำหนดเงื่อนไขที่เป็นสัญญาขึ้นมา หากมีการผิดเงื่อนไข ก็จะสามารถเอาใบหุ้นไปขึ้นทะเบียนกับที่ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ได้เลย
เหตุที่ต้องให้ใบหุ้นและสลักหลัง ข้อดีคือ หุ้นยังอยู่โชว์ชื่อในมือของเจ้าของหุ้นครบถ้วน และไม่ต้องรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะนำหุ้นไปจำนำ ตราบใดที่ยังไม่ผิดสัญญา หรือเงื่อนไขการนำหุ้นไปจำนำ
เนื่องจาก เจ้าของหุ้นจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ “เงินสด” โดยไม่ต้องมีการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้น กับ ตลท. เนื่องจากไม่ได้มีเจตนาจะผิดนัดชำระ(Default) หนี้ก้อนนี้ ตั้งแต่วันแรกที่เอาไปจำนำ แต่พอราคาหุ้นปรับตัวลดลง ระเบิดเวลาก็เริ่มทำงานทันที
2. กู้นอกระบบ โดยทำสัญญา 3 ฝ่าย จะมี “เจ้าของหุ้น-ผู้ปล่อยกู้-สถาบันการเงิน (คัสโตเดียน)”
ในสัญญาจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้ หากละเมิด ผู้ปล่อยกู้ก็สามารถขายหุ้นได้ทันที อาทิ
ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าที่กำหนดไว้ - บริษัทไม่ส่งงบการเงิน - มีปัญหากับผู้สอบบัญชี - ถูกขึ้นเครื่องหมายต่างๆจากทางการ - มีคดีความฉ้อโกงในบริษัท ฯลฯ
หากผิดเงื่อนไข จะมีการเทขายหุ้นออกมาแบบ Force sell โดยไม่สนใจว่าจะสร้างความเสียหายให้กับหุ้นตัวนั้นมากน้อยแค่ไหน
การ force sell จากการกู้นอกระบบ สามารถสังเกตได้ไม่ยากนัก เราจะเห็นหุ้นที่เอามาขายฝั่ง offer ที่ฝั่ง floor ในระดับเกิน 100 ล้านหุ้นขึ้นไป ซึ่งจะแตกต่างจากการ force sell ของโบรกเกอร์ที่กู้ในระบบ ที่จะไม่ขนหุ้นออกมาวางให้เสียขวัญแบบนี้ และหุ้นจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนี้ ก็ไม่ใช่การทำ Naked Short อย่างที่ทุกคนเข้าใจ
แท้จริงแล้ว มันคือหุ้นจริงๆ ของเจ้าของบริษัท ที่เอาไปตึ้งนอกระบบแล้วผิดสัญญา จึงถูกเจ้าหนี้นอกระบบ “ลงโทษ”
เจ้าหนี้นอกระบบ ไม่มีนโยบายถือหุ้น หรือเทกโอเวอร์กิจการของหุ้นที่ได้มาเป็นหลักประกัน แต่สิ่งที่ต้องการคือ เรียกสภาพคล่องคืนกลับมาให้มากที่สุด เพื่อจะได้เอาเงินสดไปปล่อยกู้ให้เจ้าของบริษัทรายอื่นต่อไป
การโยนหุ้นให้ร่วงติด floor ได้ 3-4 วันติดต่อกันถือเป็นเรื่องปกติ ของเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำกัน
ส่วนจะมีใครสนใจจะเทกโอเวอร์บริษัทเหล่านั้นก็ต้องไปตรวจสอบสถานะการเงินของบริษัทที่เจ้าของไปเล่น Money game ว่ามีหนี้สิ้นอยู่อีกเท่าไหร่ คุ้มค่าไหมที่จะรวบซื้อหุ้นฝั่งoffer ที่เจ้าหนี้นอกระบบเทขายออกมา
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวน offer กับ จำนวน bid ว่ามีความสมดุล กันมากน้อยแค่ไหน
ถ้าไม่สมดุล ก็ร่วงหนัก และมีหุ้นมาวางขายฝั่ง offer อย่างมหาศาล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอับอายมากสำหรับเจ้าของหุ้น ที่ปล่อยให้หุ้นตนเองถูกกระทำแบบนี้
โดยวิธีการแก้ความอับอาย คือ การแก้ต่างว่า หุ้นของตนเอง ถูกยืมมาshort sell จากใครก็ไม่อาจทราบได้ หรือ ถ้าอยากให้จับไม่ได้ ต้องโยนความผิดให้กับ Naked Short ไปเลย เท่านี้ก็ไม่ต้องตอบคำถามอะไรมากแล้ว
อีกทั้ง ยังสามารถโป้ยความผิดไปที่ความบกพร่องของทางการ ได้อย่างไม่ต้องลังเลใจเลย และกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดอย่างสนุกปาก ในกลุ่มของนักลงทุนรายย่อย หรือ นักวิเคราะห์ กูรูทั้งหลาย โดยไม่รู้ความจริงว่า ต้นเหตุทั้งหมดนั้นเกิดจากอะไรกันแน่?
ตามหลักการทั่วไป ผู้บริหารที่ดี ควรจะมุ่งเน้นการดำเนินกิจการให้มีการเติบโตมากกว่า ที่จะมามุ่งเน้น การทำราคาหุ้นให้มันเติบโตมากกว่าผลประกอบการ
พอผลประกอบการ โตไม่ทันกับราคาหุ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาก็มักจะเดากันไม่ยาก
หากเป็นนักลงทุน ที่มีความจำดี ผู้บริหาร ที่เคยบอกว่าหุ้นตนเองถูกNaked Short ทำร้าย ถูก Short sell ถล่มใส่ ถูก Money Game ทำให้ทุกอย่างเสียหาย พอเวลาผ่านไป 3-4 เดือน กำไรของบริษัทจดทะเบียน หรือหุ้นตัวนั้น ประกาศออกมาลดลง สวนทางกับ คำพูดของผู้บริหาร ที่ยืนยันว่า ผลประกอบการยังดี อย่างไม่น่าเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ลักษณะ การนำหุ้นไปตึ๊งเพื่อขอวงเงิน มีการทำมานานแล้ว แต่ไม่ได้มีผลเสียหายอะไรมาก เนื่องจากตลาดหุ้นมีทั้งปรับตัวขึ้น และลง สลับกัน
แต่มารอบนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ตลาดหุ้นลง 2 ปีติดต่อกัน และไม่มีรีบาวน์เลย วังวนที่เอาเงินกู้ไป Leverage หุ้นตัวเองเลยเกินการสะดุด
โดยปกติ ตลาดหุ้นจะลงหนักๆ 3-4 เดือนแล้วเด้งแรง ทำให้ผู้บริหารที่เอาหุ้นไปตึ๊ง “ซื้อเวลาได้” แต่พอหุ้นลงหนักๆ ติดต่อกันแบบนี้จึงเกิดความเสียหาย
จากนี้ไป การใช้เกณฑ์พื้นฐานดี หรือ ค่า PE ต่ำ กระแสเงินสดแข็งแรง มีอดีตของ EPS สูง อาจจะไม่เพียงพอในการใช้ตัดสินลงทุนหุ้นอีกต่อไป
นักลงทุน ควรเพิ่มปัจจัย การสังเกต พฤติกรรมของผู้บริหารที่ชอบไปยึดโยงกับ Money game เพราะเราไม่สามารถหาข้อมูลได้เลยว่า ผู้บริหารบริษัทใด ได้เอาหุ้นไปจำนำ “นอกระบบ” อีกจำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำมาใช้ตกแต่งราคาหุ้นให้สวยงาม หรือแข็งแรง ก่อนที่ความจริงจะปรากฏ เพื่อใช้เป็นข้อสังเกตก่อนการลงทุนในหุ้นตัวอื่นๆต่อไปในอนาคต หรือแม้แต่ตัวที่ถืออยู่ในพอร์ตก็ตามที
(Cr: เพจ SHINESTOCK)