กำลังเป็นประเด็นสุดร้อนของสังคม ร้อนพอๆ กับเรื่องอื้อฉาวของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อันทรงเกียรติ ที่ไม่รู้ กกต. กำหนดกติกาเลือกตั้งกันอีท่าไหนหรืออย่างไร
แทนจะได้ “สว.อันทรงเกียรติ” ที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน ในสาขาอาชีพต่างๆ ของสังคม ก็กลับได้ “สว.ใบสั่ง” จากขบวนการฮั้วใต้อุ้งมือการเมืองมาซะได้!
ก็เรื่องที่ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงคราม ออกโรงถลกหนัง "บริษัทภิบาล" ยักษ์ใหญ่ของประเทศที่ปกปิดข้อมูลการนำเข้า “ปลาหมอสีคางดำ” ที่เป็นปลาต่างถิ่น “เอเลี่ยนสปีชีส์” เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ที่เป็นผลผลิตการเพาะพันธุ์อันเลื่องชื่อของบริษัท...
แต่จู่ๆ ไปทำการวิจัยและพัฒนากันอิท่าไหน จึงทำให้ปลาหมอสีคางดำเจ้ากรรมเล็ดลอดออกสู่หนองน้ำธรรมชาติ และบ่อปลาของเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง ก่อนจะแพร่ขยายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนสร้างหายนะให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหลาย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่ได้มอบหมายให้อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากรดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2560
ก่อนจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า บริษัทได้ดำเนินการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำตามขั้นตอนของกฎหมายจริง และหน่วยงานตรวจสอบและออกใบอนุญาต คือ.. “คณะกรรมการด้านความหลากหลายทางและความปลอดภัยทางชีวภาพ” ของกรมประมง ได้พิจารณาอนุมัตินำเข้าอย่างมีเงื่อนไขตั้งแต่ปลายปี 2549
โดยนอกจากจะมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องมีการจัดเก็บตัวอย่างการวิจัย และรายงานต่อหน่วยงานกรมประมงอย่างเข้มงวดแล้ว ยังกำหนดเงื่อนไข ให้บริษัทต้องใช้ความระมัดระวังมิให้มีการแพร่ขยายออกสู่ธรรมชาติได้
แม้บริษัทจะอ้างว่า ปลาหมอสีคางดำที่บริษัทขออนุญาตนำเข้าในช่วงปี 2551-2553 มีอยู่เพียงล็อตเดียวจำนวน 2,000 ตัว แต่อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ และตายลงเกือบทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียงสามสัปดาห์เท่านั้น จึงได้ทำลายฝังกลับไปหมดแล้ว พร้อมยืนยันว่า บริษัทไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอสีข้างดำแต่อย่างใด
โดยบริษัทเอง ก็ได้ชี้แจงว่า พร้อมจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำดังกล่าวอย่างเต็มที่
แต่จากเอกสารหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับจากเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ และพื้นที่ข้างเคียงกับศูนย์วิจัยของบริษัท
รวมทั้งที่คณะกรรมการได้ลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเองพบว่า เริ่มมีการระบาดของปลาหมอสีคางดำในนปี 2555 และเริ่มมีทางแพร่ระบาดจำนวนมากในปี 2559 ก่อนที่จะพบว่า มีการระบาดอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะมาตรฐานหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกรมประมง และกระทรวงเกษตร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 247 วงเล็บ 1 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย 3 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 วงเล็บ 1 เพื่อพิจารณาดำเนินการ
ขนาดที่การสำรวจในเชิงลึก ยังพบว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ดังกล่าวนั้น เป็นไปอย่างรุนแรง เนื่องจากปลาหมอสีคางดำนั้นเป็นปลาที่มีความทนทรหด และอยู่ได้ในทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเค็ม น้ำจืด หรือน้ำกร่อย กินลูกปลา ไข่ปลา และปลาอื่นๆ เป็นอาหารหลัก จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว สร้างหายนะให้กับผู้เพาะเลี้ยงปลา รวมทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติในวงกว้าง
ข้อมูลจากการตรวจสอบย้อนกลับไปในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่พบว่า มีบริษัทเอกชนหรือผู้นำเข้ารายอื่นใด มีการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำเข้ามาในประเทศ จะมีก็มีเพียงบริษัทเอกชนรายใหญ่รายนี้เท่านั้น จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ต้นตอของการแพร่ระบาด ปลาหมอสีคางดำ มาจากบริษัทอย่างแน่นอน
มีการเรียกร้องให้บริษัทได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อหายนะ ที่กำลังเกิดขึ้นกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย อันมีต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แม้บริษัทจะอ้างว่า ไม่ใช่ต้นตอหรือต้นเหตุ เพราะปลาหมอสีคางดำที่บริษัทนำเข้านั้น ตายและถูกทำลายลงไปหมดแล้วตั้งแต่แรก
แต่ก็ยากจะปฏิเสธหรืออรรถาธิบายต่อสังคม แล้วปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในเวลาต่อมานั้นมาจากใด จะมาจากการลักลอบนำเข้า ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือกระบวนการขออนุญาตนำเข้าปกติหรือไม่
เพราะนัยว่า ไม่ใช่แค่ปลาหมอสีคางดำ ที่กำลังเป็นปัญหาต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย ในเวลานี้เท่านั้น บริษัทธรรมาภิบาลยักษ์รายนี้ ยังซุ่มเงียบแอบทดลองและพัฒนาสายพันธุ์ปลาเอเลียนสปีชีส์สายพันธุ์ใหม่ ที่นัยว่า มีราคาโคตรแพงในตลาด เพื่อเอาใจนักช้อปนักชิมและนักบริโภคจากจากจีนแผ่นดินใหญ่
โดยมีรายงานยืนยันว่า มีการซุ่มเงียบพัฒนาและทดลองไปถึงขั้นเริ่มทำตลาดในวงกว้างไปแล้วเวลานี้ ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางการแต่อย่างใด
พฤติกรรมเยี่ยงนี้จะให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไว้เนื้อเชื่อใจบริษัทได้อย่างไรว่า ไม่ใช่ต้นตอของการนำปลาเอเลี่ยนสปีชีส์เหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร จริงไม่จริง?
แก่งหินเพิง