ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (7 สิงหาคม 2562) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ในหัวข้อ ”รัฐบาลประยุทธ์2..ครม.เศรษฐกิจ มีวัน Honeymoon หรือไม่?” ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจ โดยระบุว่า..
รัฐบาลประยุทธ์ 2 ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่แล้ว หลังจากแถลงนโยบายต่อสภาฯ และมีการประชุมแบ่งภาระหน้าที่กันทั่ว ครม. รวมทั้งมีการรื้อฟื้นระบบ ครม.เศรษฐกิจ ตามรูปแบบเปรมโมเดล ตามที่ผมเขียนคาดการณ์ไว้ เมื่อ 18 มิ.ย. 2562 โดยท่าน นรม. พลเอกประยุทธ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นความจำเป็นของโมเดลนี้ ไม่ว่าใครจะวิจารณ์ว่า นรม.ไม่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจก็ไม่เกี่ยว เพราะความสำคัญคือ จะต้องให้รอง นรม. และ รมว.ที่เกี่ยวข้องมาประชุม และให้มีมติเพื่อเป็นการตัดสินในการทำงาน ถ้า นรม. ไม่เป็นประธาน รอง นรม. รมว.บางคนอาจไม่มาประชุม
ถามว่าเมื่อเริ่มทำงานกันแล้ว ครม.เศรษฐกิจมีวัน Honeymoon หรือไม่
ถ้าดู Body Language ของรอง นรม. สามคน ดูเหมือน รองจุรินทร์ และรองอนุทิน แสดงอาการสุขสดชื่นมาก สายตาวาวเป็นประกาย ยิ้มแบบกว้างสุด เหมือนช่วง Honeymoon แต่รองฯ สมคิด ดูหน้าตาไม่สุขเลย อาจเป็นเพราะเป็นรอง นรม. มาหลายปีแล้ว และในรัฐบาลก่อนก็มีบทบาทเป็นพระเอก ตอนนี้เป็นพระรองร่วม ถึงแม้จะเป็นพระรองร่วมหมายเลขหนึ่งก็ตาม
ความจริง ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่มีเวลา Honeymoon ซึ่งอีกสักพัก ท่านรอง นรม. และ รมว.ทั้งหลาย ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสในภาพสื่อ รอยยิ้มเหล่านี้อาจจะค่อยๆ จางหายไป
เพราะอะไรหรือ
ผมว่าคนส่วนมากทราบอยู่แล้ว ว่าปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้มีมากมาย สาเหตุมาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ
ปัญหาภายนอก คือเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนรูปแบบ จากที่เคยค้าเสรีมาเป็นกีดกันและต่อสู้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา ที่ประกาศตั้งเงื่อนไขการค้า ทั้งใช้ Tariff และประเด็นอัตราแลกเปลี่ยน เรียกได้ว่าสหรัฐประกาศสงครามการค้ากับหลายประเทศ ที่โดนเป็นพิเศษคือจีน ซึ่งจีนก็ตอบโต้แรงๆ เหมือนกัน
เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ
ในเมื่อการค้าโลกเป็นการค้าเสรี ตามรูปแบบ WTO มานาน ระบบ Supply Chain คือการผลิตสินค้าต่อเนื่องกันจากหลายจุด พอมีการกีดกันจุดใดจุดหนึ่ง ของที่วิ่งตาม Chain ก็จะสะดุด กระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่
ดังนั้นอัตราการส่งออก ของไทยจึงไม่เพิ่ม กลับลดลง เป็นกันเกือบทุกประเทศในโลก ส่งผลกระทบธุรกิจในขบวนการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของไทย
ปัญหาการส่งออก เป็นงานหนักของกระทรวงพาณิชย์ แต่ ก.พาณิชย์ อยู่ปลายทางของการทำธุรกิจ จะแก้ปัญหาได้ต้องได้รับความร่วมมือจาก ก.เกษตร และ ก.อุตสาหกรรม ด้วย ทั้งยังต้องได้ ก.คลัง สนับสนุน กระทรวงเหล่านี้มี รมว.และรมช.ต่างพรรคกัน จึงจำเป็นต้องมี ครม.เศรษฐกิจไว้ให้เกิดมติ
ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังมีอีกหลายเรื่อง ไว้จะเขียนให้อ่านกันวันหลัง ถ้าสนใจ
ปัญหาภายในของเราก็มีมาก ที่เห็น ๆ กันก็คือ ชาวบ้านทำมาค้าขายฝืดเคือง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าใช้จ่ายในการทำงาน ในการค้าขายสูง ปัญหาเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ไม่เอื้อให้ประกอบอาชีพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นปัญหาทางด้าน Supply Side เป็นสำคัญ คือภาคแรงงานที่ส่วนมากยังมีการศึกษาไม่เกิน 9 ปี ทางเลือกในการทำงานมีจำกัด และปัญหากรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินที่มีความสับสน เป็นอุปสรรคในการใช้ที่ดินมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ปัญหา Technology ทาง IT ที่ยังใช้กันไม่ได้ทั่วถึง ทั้งมีต้นทุนสูง เพราะ Telecom เคยเป็นบริการที่ถูกจัดเป็น Luxury ไม่ใช่ Utility เหมือนไฟฟ้า ประปา รัฐจึงคิดค่าสัมปทานคลื่นแพง ผู้ได้สัมปทานก็ต้องมาเก็บค่าใช้จากพวกเราประชาชนแพงตามไปด้วย
ปัญหาโครงสร้างอีกกลุ่มหนึ่ง คือตลาดเงิน / ตลาดทุน ในตลาดมีเงินมาก สภาพคล่องสูงมาก เพราะภาคเศรษฐกิจที่เป็น Modern Sector สร้างดุลการค้าเกินดุล จึงมีเงิน มีทุนในตลาดมาก ดอกเบี้ยเงินฝากจึงต่ำติดดิน และค่าเงินบาทแข็งยังกะหิน แต่ภาคประชาชนทั่วไป ไม่ได้ประโยชน์จากทุนที่มีต้นทุนต่ำ เพราะเข้าไม่ถึง นอกจากนี้มีภาคพลังงานที่ต้องรักษาความพอดี ความสมดุลไว้เพื่อให้มีพลังงานใช้สม่ำเสมอ สุดท้ายคือ กฎ ระเบียบภาครัฐที่เป็นอุปสรรคในการทำมาค้าขาย
ปัญหาโครงสร้างเหล่านี้ แก้ได้ วิธีแก้ก็รู้ ๆ กันอยู่ แต่จะแก้คงต้องใช้เวลา และใช้ Political Will พลังสูง ซึ่งต้องให้ประชาชนเรียกร้องกันมากๆ จะเป็นการสนับสนุนรัฐบาลให้แก้ จะให้ชนชั้นนายทุน ชั้นปกครองมาแก้ คงคาดหวังได้ยาก
เมื่อปัญหาโครงสร้างต้องใช้เวลาแก้นาน และใช้พลังมาก เราจึงเห็นท่านรัฐมนตรีทั้งหลาย ประกาศนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น ประกันราคาพืชผล ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งก็เป็นมาตรการที่สังคมคุ้นเคย เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ทำคล้ายกัน