ธรรมดาของผู้คนโดยทั่วไป หากเรามีที่ทางในทำเลทองที่มีศักยภาพและมีแผนจะพัฒนาโครงการสุด “บิ๊กบึ้ม” ขึ้นมา จะเป็นโรงแรม คอมมูนิตี้ มอลล์ ห้างสรรพสินค้า หรือผุดโครงการมิกซ์ยูส อะไรก็เถอะ
ในการเลือกผู้รับเหมาที่จะมาก่อสร้างโครงการให้เรา ตามแบบแปลนที่มีไว้แล้ว เราก็ต้องเลือกผู้รับเหมาที่นอกจากจะมีศักยภาพ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว ราคาก่อสร้างที่เสนอต้อง "ต่ำสุด" เป็นหลัก! สมมุติค่าก่อสร้างโครงการนี้ประมาณ 5 พันล้าน เมื่อเปิดให้ผู้รับเหมาเข้ามาเสนอราคา
…
แน่นอนว่า เราก็ต้องเลือกในรายที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นหลักไว้ก่อน จะมีใครที่ไหนผ่าไปเลือกรับเหมาก่อสร้างที่เสนอราคาแพงลิบลิ่วไว้ก่อน!
ต่อมา หากเราคิดจะเอาโครงการที่นี้ออกหาประโยชน์ ไม่อยากบริหารโครงการเอง ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ จะเซ้ง/ให้เช่าระยะยาว 20-30 ปี
แน่นอน! ในการคัดเลือกข้อเสนอผู้ที่จะเอาโครงการนี้ไปบริหารต่อ เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่เราจะได้รับเป็นหลัก ต้องเคาะเลือกรายที่เสนอผลตอบแทนระยะยาวให้กับเราสูงสุดเป็นเกณฑ์ทั้งนั้นแหล่ะ
คงไม่มีใครที่ไหนผ่าไปเลือกข้อเสนอในรายที่เสนอผลตอบแทนต่ำติดดินเป็นแน่! ต่อให้เอาทั้ง 2 โครงการมา “มัดตราสัง” รวมประมูลไปในคราวเดียวกัน เพื่อที่เราจะใช้เม็ดเงินในการลงทุนโครงการนี้ หรือจ่ายเงินในการลงทุนโครงการนี้น้อยที่สุด โดยให้ผู้รับเหมาที่จะก่อสร้างโครงการต้องไปหา “พาร์ทเนอร์” ที่จะเข้ามาเซ้ง/รับโครงการไปบริหารไปพร้อม เพื่อที่เราจะได้คัดเลือกเอารายที่มีข้อเสนอดีที่สุด
คือนอกจากเสนอราคาก่อสร้าง “ต่ำที่สุด” แล้ว ยังต้องมีข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนในการเอาโครงการไปบริหาร 20-30 ปี “สูงสุด” อีกด้วย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า “การประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ของ รฟม. ที่ผนวกเอาการก่อสร้างโครงข่ายสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) กับสัมปทานเดินรถทั้งโครงการระยะ 30 ปีไว้ด้วยกัน” ซึ่งวันวานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา (ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) เพิ่งไฟเขียวอนุมัติให้กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ลุยไฟกันไปเต็มสูบ
และรุ่งขึ้น รฟม. ก็รีบเซ็นสัญญากันในทันทีนั้น กลับผิดแผกแปลกพิสดารที่สุดในสามโลก! และไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นข้างต้นแม้แต่น้อย (แม้ในเงื่อนไขประกวดราคาจะกำหนดเอาไว้แล้วก็เถอะ)
แปลกพิสดารยังไง?
ก็แทนที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ (รฟม.) จะคัดเลือกผู้รับเหมาที่จะก่อสร้างโครงการนี้ จากผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นหลัก และคัดเลือกผู้รับสัมปทานเดินรถ 30 ปี ที่มีข้อเสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ดีที่สุดตามหลักการพื้นฐานและเงื่อนไขประกวดราคาที่ควรจะเป็น
เปล่าเลย ! รฟม. และกระทวงคมนาคม กลับผ่าไปเลือกกลุ่มทุนรับเหมารายที่เสนอราคาสูงกว่า และจ่ายค่าต๋งสัมปทานหรือผลตอบแทนแก่รัฐต่ำสุดในสามโลกแทนซะงั้น!
เป็นไปได้ยังไง? (แต่ก็เป็นไปแล้ว)....!
โครงการนี้กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ซอง ซองที่ 1 - ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนตะวันตก ระยะ 5 ปี + ดอกเบี้ย (ส่วนตะวันออกนั้น รฟม. ประมูลก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 64) และซอง 2 – ค่าสัมปทานหรือผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐที่เอกชนจะให้ระยะ 30 ปี
จากนั้นจะเอาซองที่ 1 และ 2 มาประเมินราคาเป็นราคาตามมูลค่าปัจจุบัน (NPV)และเปรียบเทียบข้อเสนอจองแต่ละราย โดยเอา “ค่าต๋ง” ที่รัฐจะได้รับตลอดสัมปทาน 30 ปี หักด้วยค่าก่อสร้างส่วนตะวันตก รายใดที่เสนอสุทธิในการขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐต่ำสุดก็ชนะประมูลไป (หรือเสนอค่าก่อสร้าง “ต่ำสุด” และเสนอผลปย. ตอบแทนแก่รัฐ “สูงสุด”)
โครงการนี้ รัฐบาลโดยมติ ครม. อนุมัติกรอบวงเงินอุดหนุนโครงการไว้ 91,980 ล้านบาท และมีวงเงินลงทุนรวมทั้งโครงการ 142,700 ล้านบาท
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขประกวดราคาโครงการมันก็มีแค่นี้
แต่ที่มันประหลาดพิสดารพันลึก ทำให้โครงการยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกักมากว่า 4 ปีนั้น ก็เพราะมีคนอุตริไปเล่นแร่แปรธาตุ คิดสมการพิสดาร หวังจะประเคนโครงการนี้ไปให้กลุ่มทุน “กากี่นั้ง” ที่ตั้งแท่น “ล็อคเป้า” เอาไว้แล้ว
จึงได้เล่นแร่แปรธาตุดำเนินการในทุกวิถีทาง ในอันที่จะบิดเบือนเกณฑ์การประมูลคัดเลือก เอาเป็นว่าขนาดล็อคสเปคกลุ่มทุนรับเหมาที่จะเข้าประมูลโครงการนี้ยิ่งกว่า “ล็อคเทค” ล็อคกัน 3 ชั้น 4 ชั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ศาลหน้าไหนก็ไม่มีทางเข้าถึงหรือตามทัน (อาจถูกอะไรบังตาอยู่)
โครงการสายสีส้มนี้ถึงได้วุ่นวาย ยืดเยื้อ ฟ้องร้องกันอีรุงตุงนัง สะเทือนไปถึง Creditability แม้กระทั่งในศาลสถิตยุติธรรม !
การประมูลครั้งแรกเมื่อกลางปี 63 มีผู้เข้าซื้อซองประมูล 10 ราย เข้ายื่นข้อเสนอเพียง 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม BTS-BSR และ BEM-CK เท่านั้น เพราะเมืองไทยมันก็มีแค่ 2 รายนี้เท่านั้นที่ทำรถไฟฟ้าอยู่
โดยข้อเสนอของกลุ่ม BSR ที่มีการเปิดเผยในภายหลังนั้นได้เสนอขออุดหนุนจากรัฐสุทธิ 9,635 ล้านบาท แยกเป็นค่าสัมปทาน 134,300 ล้าน คิดเป็น NPV 70,145 ลบ. และเสนอราคาค่าก่อสร้างส่วนตะวันตก 79,820 ลบ. จึงมีวงเงินสุทธิขออุดหนุนจากรัฐ 9,635 ล้านบาท
แปลให้ง่าย วงเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างโครงการที่ ครม. ตั้งไว้ 9,190 ล้านบาทนั้น กลุ่ม BSR แทบไม่ได้ขอใช้เลย สามารถจะโยกไปก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ ได้อีกไม่น้อยกว่า 2 สายทาง หรือโยกไปสร้างอุโมงค์ใต้ดิน กทพ. ควบคู่กับรถไฟฟ้ายังได้เลย
ก็ไม่แปลกที่กลุ่มนี้จะเสนอราคาเท่านั้น เพราะก่อนหน้าก็เพิ่งจะเฉือนเอาชนะ BEM ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (นนทบุรี-แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี) ด้วยข้อเสนอที่ใกล้เคียงกับโครงการนี้
แต่ไม่รู้หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ รฟม. คิดอะไรอยู่ แทนจะดำเนินการประมูลไปตามปกติ กลับลุกขึ้นมาปรับเกณฑ์พิจารณาโครงการนี้ “กลางอากาศ” แก้ไขหลักเกณฑ์คัดเลือกไม่เอาแล้วเกณฑ์ปกติ จนกลายเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่โรงศาล ก่อนที่ รฟม. จะชิงออกประกาศยกเลิกการประมูลไปดื้อๆ ด้วยข้ออ้างจะสามารถจัดประมูลใหม่ได้เร็วกว่าจะรอผลชี้ขาดจากศาล
ก่อนที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก จะใช้เวลาอีกกว่าขวบปีในการโม่แป้งกำหนดเกณฑ์ประมูลใหม่ ที่ในท้ายที่สุดก็กลับไปใช้เกณฑ์ตัดสินราคาตามปกติ แต่ดอดไปเพิ่มเงื่อนไขผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลได้ต้องผ่านด่านอรหันต์ล็อค 3 ชั้นให้ได้ก่อน
ที่นัยว่า ทั้งโลกมีกลุ่มรับเหมาไทยเพียง 2 รายเท่านั้น ที่ผ่านเกณฑ์นี้ได้ คือ CK-ITD
ซึ่งในการประมูลครั้ง 2 เมื่อกลางปี 2565 นั้น แม้จะมีผู้เข้าประมูล 2 กลุ่มเช่นเดิม คือ BEM-CK และกลุ่ม ITD (ขณะที่กลุ่ม BSR-BTS แม้จะซื้อซองประมูลแต่ไม่สามารถเข้าร่วมได้) แต่ก็แทบจะกลายเป็นมหกรรมปาหี่ ของการประมูลแบบรายเดียว
เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า “คู่เทียบ” ที่อุปโลกน์ยื่นข้อเสนอด้วยนั้น ขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น ด้วยกรรมการบริหารบริษัทต้องคำพิพากษาจำคุกใน “คดีเสือดำ” ขัดคุณสมบัติในการเข้าทำสัญญากับหน่วยงานรัฐมาตั้งแต่ต้น แถมพาร์ทเนอร์ที่ในเงื่อนไขประกวดราคากำหนดเอาไว้ กลับไม่มีเอกสารใดๆ ยืนยันว่าจะเข้าร่วมลงทุนในโครงการด้วยอีก
เป็นมหกรรมปาหี่ประกวดราคาที่แทบจะเรียกได้ว่า “ปล้นสะดม” กันตั้งแต่ในมุ้งหรือไม่! ขณะที่ราคาที่บริษัทเสนอ และ ครม.นายกฯ เศรษฐา ไฟเขียวให้ลุยไฟแบบ “พร้อมไปตายกันเอาดาบหน้า” นั้น
บนเงื่อนไขข้อเสนอทางการเงินเดียวกัน นั้น BEM ซอง 1 เสนอค่าก่อสร้างส่วนตะวันตก 81,871 ล้านบาท และซอง 2 เสนอผลตอบแทนแก่รัฐ 30 ปี 10,000 ล้านบาท คิดเป็น NPV 3,583 ล้านบาท ทำให้ BEM เสนอขออุดหนุนจากรัฐสุทธิ 78,288 ล้านบาท
ท่ามกลางปม “ส่วนต่าง” กว่า 68,000 ล้าน ที่รัฐจะต้องควักเนื้อให้โครงการนี้ จากข้อเสนอของคู่แข่งในอดีตที่เสนอขอรับการอุดหนุนจากรัฐสุทธิ 9,635 ล้านบาทเท่านั้น
แม้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้จะยกแม่น้ำทั้ง 5 ยืนยันว่า ไม่อาจจะนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะประมูลกันคนละครั้ง แต่สิ่งที่ไม่อาจจะปิดบังโลก ปกปิดข้อเท็จจริง แบบเดียวกับกับกรณีการปกปิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ก็คือ..
ทั้งเนื้องานโครงการ รายละเอียดการก่อสร้าง แม้กระทั่งเหล็ก เสาเข็ม โครงหลังคา สถานี หรือแม้กระทั่งน็อตสรูสักตัวในโครงการนี้ ยังคงเป็นไปตามกรอบและเนื้องานเดิมทุกกระเบียดนิ้ว (แม้แต่ใบ BOQ หรือใบเสนอราคา ช่องที่ให้กรอกข้อเสนอทุกอย่างก็ใช้ของเดิมนั่นแหล่ะ)
ทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นการเคาะโต๊ะประเคนสัมปทาน โดยที่ไม่เพียงแต่รัฐบาล (รฟม.) จะต้องจ่ายค่าโง่ (แบบตั้งใจ) แล้ว
สัญญาสัมปทานร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ ยังเป็น “อภิมหาค่าโง่” ด้วยอีก
เพราะโครงการที่อนุมัติและสัญญาที่เซ็นกันไปนี้เป็นโครงการที่ประมูลกันเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้นกำหนดเงื่อนไขประมูลภายใต้โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร 17-49 บาท
มีการเล่นแร่แปรธาตุล็อคสเปคกันอื้อฉาวไม่รู้กี่ไส้ขด
จึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประมูล และ “ล้างไพ่” จัดประมูลใหม่มาโดยตลอด ซึ่งทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และก้าวไกล(กก.) เอง ก็ยืนยันนั่งยันมาตลอด หากได้เป็นรัฐบาลจะล้มประมูล - ล้างไพ่จัดประมูลใหม่ สถานเดียว
แต่สุดท้ายก็กลับกลืนเสลดตัวเอง จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่
แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้น “นี่เป็นค่าโง่” ระลอกแรก
ยังจะมีก๊อก 2 จากการที่กระทรวงคมนาคม และรัฐบาลป่าวประกาศ ภายหลังลงนามในสัญญาว่า จะผลักดันการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า รวมทั้งโครงการสายสีส้มนี้เหลือ 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายหาเสียงของพรรคที่สัญญาไว้กับประชาชน
รู้ทั้งรู้ว่า จะต้องลุยไฟนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย โดยหนทางที่ดีที่สุดสำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ประมูล หรืออยู่ระหว่างประมูลประกวดราคา ก็คือ การกำหนดเงื่อนไขประมูลภายใต้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารใหม่ 20 บาทเท่านั้น จึงไม่เกิดความยุ่งยากในการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานจนก่อให้เกิดค่าโง่ตามมา
แต่บทถนัดของนักการเมือง “ขี้ฉ้อ” ของกระทรวงนี้ ก็คือ พร้อมจะเจรจายืดสัญญาสัมปทานเพื่อแลกกับการปรับลดอัตราค่าโดยสาร ไม่ว่าจะทางด่วน รถไฟฟ้า ขอให้ประชาขนผู้ใช้บริการเรียกร้องขึ้นมาเถอะ เป็น “เข้าทางทรีน” ทันที
ก็เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่เพิ่งเซ็นสัญญากันไปเมื่อวานนี้ วันนี้เจ้ากระทรวงคมนาคมก็ออกมาโพนทะนานแล้วว่า จะต้องหาทางเจรจาแก้ไขสัญญา (ที่เพิ่งลงนามกันไป) เพื่อปรับลดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
คงลืมไปว่า....“ก่อนเซ็นสัญญานั้นรัฐบาลมีอำนาจ แต่หลังเซ็นสัญญาแล้วอำนาจอยูที่เอกชน” อันนี้ รองนายกฯ สุริยะ ไม่ได้กล่าวแต่ “แก่ง หินเพิง” กล่าวเอง
แก่งหิน เพิง