การเจรจาต่อขยายสัญญาสัมปทานเพื่อแลกกับการตรึงค่าโดยสาร หรือค่าผ่านทาง ดูจะเป็น "บทถนัด"ของนักกาจเมืองยุคนี้จริงๆ..
…
ล่าสุด! นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายก และ รมว.คมนาคม จุดพลุนโยบายดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้าได้ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เจรจาบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริษัทเอกชนลงทุนก่อสร้างทาง Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 วงเงิน 3.4 หมื่นล้าน โดยแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 15 ปีเศษให้
ครั้งนี้ก็มาอิหรอบเดิม โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการเจรจากับบริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อให้บริษัทตรึงค่าผ่านทางจากที่ต้องปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้
แต่หนนี้ การจุดพลุแนวนโยบายดังกล่าวดูจะเป็นประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถามเอากับกระทรวงคนาคมอย่างหนักว่า ตั้งใจจะลากเอาประชาชนคนไทยไป "เสียค่าโง่" หรืออย่างไร?
สัมปทานทางยกระดับ "ดอนเมืองโทลล์เวย์" นั้นจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แม้ในสัญญาจะยังเปิดให้บริษัทปรับค่าผ่านทางในระยะ 5 ปีสุดท้าย (22 ธ.ค. 67 - 21 ธ.ค. 72) ตามดัชนีราคาผู้บริโภค CPI ในอัตรา 5-10 บาท โดยจะปรับขึ้นด่านดินแดง 10 บาท และปรับขึ้น 5 บาท สำหรับด่านดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน
ทำให้อัตราค่าผ่านทางขาออก จากดินแดง ไปหลักสี่ - ดอนเมือง ปรับขึ้นจาก 80 บาท เป็น 90 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ และจาก 110 บาท เป็น 120 บาท สำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ
ส่วนด่านดอนเมือง-อนุสรณ์สถานปรับจาก 35-45 เป็น 40-45 บาท และรถใหญ่จาก 65 เป็น 70 บาท ส่วนขาเข้าชำระครั้งเดียวที่ด่านดอนเมืองปรับจาก 120-160 เป็น 130-170 บาท
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรสัญญาสัมปทานโทลล์เวย์นี้ ก็จะหมดสัญญาในสิ้นปี 2572 นี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า บรรดาทรัพย์สินและสิทธิ์ต่างๆ ที่บริษัทลงทุนไปแล้วมีอยู่ จะต้องโอนมาเป็นของรัฐ คือ..กรมทางหลวง ที่จะเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ต่อไป
หากว่ากันตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือตาม พ.ร.บ.พีพีพี แล้ว ในมาตรา 49 ของกฎหมายฉบับนี้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
"ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทาง การดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุน ภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจากสิ้นสุดลงโดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชน"
นั่นหมายถึงว่า ก่อนสัมปทานสิ้นสุด 5 ปี กรมทางหลวงต้องจัดตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการบริหารโครงการนี้ว่า ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แล้ว กรมฯ มีแนวทางที่จะดำเนินการอย่างไรกับโครงการนี้
จะให้เอกชนรายเดิมบริหารโครงการโดยต่อขยายสัญญาออกไป หรือประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารโครงการแทน หรือรัฐโดยกรมทางหลวงจะบริหารโครงการเองก็ได้ทั้งนั้น
หรือจะผนวกโครงการนี้กับโครงการขยายโทลล์เวย์จากอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. ที่ต้องลงทุนอีกกว่า 31,000 ล้านบาท แล้วค่อยเปิดให้สัมปทานไปทั้งโครงการเลยก็ทำได้ขึ้นอยู่กับนโยบายคมนาคม และรัฐบาล
ดังนั้น ไอ้ที่ รมว.คมนาคม กำลังตีปี๊บจะให้กรมทางหลวงเจรจากับเอกชนขอให้ตรึงราคาค่าผ่านทางโทลเวย์ที่กำลังจะปรับขึ้นปลายปีนี้ออกไปก่อน แลกกับการขยายสัญญาณสัมปทาน 4-5 ปี หรืออาจมากกว่านั้น
จึงเป็นการก้าวล่วง ดำเนินนโยบายขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2562 อย่างชัดเจน ทั้งยังก่อให้เกิดคำถามขึ้นในสังคม
สัญญาสัมปทานเขาจะสิ้นสุดในปี 2572 ซึ่งแปลว่า กรมทางหลวง จะได้รับโอนโครงข่ายโทลเวย์นี้มาเป็นของรัฐทั้งหมด ถึงเวลานั้น รัฐจะเปิดให้ประชาชนใช้ฟรี ขึ้นโทลล์เวย์ฟรีๆๆ หรือเก็บค่าผ่านทางแค่ 5-10 บาท ไปพลางๆ ระหว่างรอเคาะแนวทางบริหารโครงการในอนาคตก็ยังได้
ไม่เห็นจะต้อง “ดิ้นพล่าน” ให้กรมทางหลวงต้องเร่งเจรจากับบริษัทเอกชน เพื่อให้ตรึงราคาค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานอะไรที่ว่านั้นแม้แต่น้อย
แค่ที่กำลังตั้งแท่นขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ออกไป 15 ปี แลกกับการให้เอกชนลงทุนทางยกระดับแค่ 35,000 ล้าน ยังปล้นผลประโยชน์ของประเทศชาติไปไม่พออีกหรือ?
ปุ่ดโธ่! แบบนี้กระมังที่เขาเรียก "บทถนัดของนักการเมืองขี้ฉ้อ" ของแทร่!!!
แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้ว!!!