ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนใหม่ ที่หากไม่มีอะไรพลิกผัน กระทรวงคมนาคมคงเสนอชื่อ “นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการนิคมฯ เป็นผู้ว่ารถไฟฯ คนใหม่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯและ บอร์ด รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน ซึ่งได้เห็นชอบผลการสรรหาไปแล้วก่อนหน้าแบบ “ม้วนเดียวจบ”.. แต่กลับต้องมาสะดุดกึก เพราะล่าสุดเจอวิบากกรรม เมื่อเครือข่ายสื่อฯ ยื่น ป.ป.ช. – ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สคร. ตรวจสอบขาดคุณสมบัติหรือไม่?“
…
หากไม่มีอะไรพลิกผันแบบปฏิญญา “เขาใหญ่-แรนโช ชาญวีร์” ที่ทำเอารัฐบาล “นายกฯ เศรษฐา” เป๋ไม่เป็นรูปขบวน ความมุ่งมั่นที่จะดึงเอากัญชากลับมาสู่บัญชียาเสพติดภายในสิ้นปีนี้ต้องถูกกระตุกเบรกหัวทิ่ม จนต้องกลับลำ 360 องศา ปรับเปลี่ยนมาเป็นการยกร่างกฎหมายควบคุมกัญชาแทน
ทำเอาเครดิตของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ที่มีอยู่ก่อนหน้าแทบมลายหายสิ้น กลายเป็นรัฐบาลไม้หลักปัก(ขี้)เลน ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองไปโดยปริยาย นายกฯ ที่เคยมีท่าทีแข็งกร้าวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดแทบจะถูกโดดเดี่ยวจากนักการเมือง “เขี้ยวลากดิน” ทั้งหลาย
กับเรื่องที่จั่วหัวไว้เรื่องของ “ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” คนใหม่ ที่หากไม่มีอะไรพลิกผัน กระทรวงคมนาคมคงเสนอชื่อ “นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ว่ารถไฟฯ คนใหม่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ และ บอร์ด รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน ซึ่งได้เห็นชอบผลการสรรหาไปแล้วก่อนหน้าแบบ “ม้วนเดียวจบ”
ที่จริง “แคนดิเดท” ว่าที่ผู้ว่ารถไฟคนใหม่ ที่ฝ่ายการเมืองจะดึงเอา “นายวีริศ” ข้ามห้วยจาก กนอ. เข้ามาเป็นผู้ว่ารถไฟนั้น มีมาตั้งแต่ช่วงที่ “นายนิรุฒ มณีพันธ์” ครบวาระ 4 ปีตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนโน้นแล้ว ซึ่งแม้สหภาพการรถไฟฯ พนักงานรถไฟและฝ่ายบริหารรถไฟฯ อยากให้กระทรวงคมนาคมต่ออายุผู้ว่ารถไฟฯ ไปอีกวาระ เพื่อจะได้สานงานที่กำลังดำเนินการอยู่เกิดความต่อเนื่อง
แต่ก็มีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาแล้วว่า ฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบายจะต่ออายุผู้ว่ารถไฟฯ เพราะได้วางตัวบุคคลใกล้ชิดที่จะข้ามห้วยมาเป็นผู้ว่ารถไฟฯ เอาไว้แล้ว มีการล็อคตัวเอาไว้ตั้งแต่ในมุ้งว่างั้นเถอะ ล็อคตัวไว้แน่นหนาแค่ไหนก็เอาเป็นว่า ขนาดลูกหม้อรถไฟฯ อย่าง นายอวิรุธ ทองเนตร รองผู้ว่าการ ที่พกเอาความมั่นใจมาเต็มร้อยในฐานะตัวแทนคนรถไฟมาแต่อ้อนแต่ออก ก็ยังต้องชิดซ้าย
แม้สหภาพการรถไฟฯ จะออกโรงทักท้วงคุณสมบัติของ “ว่าที่ผู้ว่ารถไฟฯ คนใหม่ (นายวีริศ)” ที่เป็นผู้ว่า กนอ. และขณะดำรงตำแหน่งยังเป็นคู่สัญญาเช่าที่ดินรถไฟ 30 ปี เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมฯ มาบตาพุด ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีประโยชน์ทับซ้อน อาจขัดคุณสมบัติตามประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ และต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
แต่คณะกรรมการสรรหายังคงยืนยันว่า ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของแคนดิเดทผู้ว่ารถไฟคนใหม่มาอย่างถี่ถ้วนแล้ว โดยนัยว่า ฝ่ายการเมืองได้หารือกับ “เนติบริกร” เพื่อ “ปลดล็อค-ผ่าทางตัน” ปัญหาเรื่องคุณสมบัติของว่าที่ว่าผู้ว่ารถไฟคนใหม่นี้ โดยอ้างว่า เป็นการลงนามในตำแหน่งผู้ว่า กนอ. ตัวแทนองค์กร กนอ. ไม่ได้ผูกพันเป็นการเฉพาะตัว จึงไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติ
ก็ไม่รู้ว่าประเด็นเหล่านี้ทางการรถไฟฯ และคมนาคม ได้มีหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นมั่นเหมาะแค่ไหน ถึงกล้าลุยไฟไปเต็มสูบแบบหมู (เถื่อน) ไม่กลัวน้ำร้อนแบบ “ม้วนเดียวจบ” เพราะหากพินิจพิเคราะห์ถึงหนังสือเวียนของ สคร. เพื่อซักซ้อมความเข้าใจต่อประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนตามนัยที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โดยหยิบยกเอากรณีสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เป็นกรณีตัวอย่างแล้ว
หลายฝ่ายก็ได้แต่ “อึ้งกิมกี่” ทำไมกรณีสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ตีความไปแบบหนึ่ง แต่กรณีสรรหาผู้ว่ารถไฟฯ กลับตีความไปอีกด้าน เป็นสองมาตรฐานทั้งที่เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมด้วยกันทั้งคู่
ล่าสุด! เครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ก็ออกโรงยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาและบอร์ดรถไฟฯ ต่อกรณีอุ้มสมผู้ว่ารถไฟฯ คนใหม่ ทั้งที่มีปัญหาด้านคุณสมบัติขัดแย้ง และเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2518
หากเป็นกรณีการเมืองก็เรียกได้ว่า กำลังตกที่นั่งเดียวกับ “นายกฯ เศรษฐา” (ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) ที่ดอดไปตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีโดยที่ทุกฝ่ายต่างก็ยืนยัน นั่งยันว่า ได้ตรวจสอบคุณสมบัติมาอย่างครบถ้วนแล้ว ก่อนจะถูก 40 สว.ยื่นเรื่องร้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฟันกราวรูด
ในส่วนคดีความของนายพิชิต ชื่นบาน นั้น ยังไม่ทันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะตั้งแท่นไล่เบี้ย เจ้าตัวก็ชิง “ไขก๊อก” ลาออกจากตำแหน่งไปเสียก่อน เหลือไว้แต่นายกฯ ที่ไม่สามารถจะกระโดดหนีได้ทัน จึงต้องไป “วัดดวง” เอาวันที่ 14 สิงหาคม ศกนี้ กรุณาปูเสื่อติดตาม
แต่หากจะถามว่า ทำไมฝ่ายการเมืองถึงต้องล็อคเป้าจะเอาแต่ “นายวีริศ” เป็นผู้ว่ารถไฟฯ คนใหม่นั้น เอาเป็นว่าเพราะเขาเป็นผู้ว่า กนอ. ที่รู้เรื่องของที่ดินเขากระโดง เอ้ย! ที่ดินการรถไฟฯ ที่กำลังมีประเด็นแก้ไขสัญญาสัมปทานอยู่กับกลุ่มทุนยักษ์ของเจ้าสัวใน “โครงการรถไฟความเร็วสูง ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน” นั่นแหล่ะ จึงหวังจะยืมมืออดีตผู้ว่า กนอ. ผ่าทางตันให้ เพื่อที่โครงการจะได้ขยับเดินหน้าได้เสียที
แต่วิกรรมการว่าที่ผู้ว่ารถไฟคนใหม่จะไปถึงฝั่งหรือไม่นั้น คงต้องปูเสื่อรอดูกันอย่ากะพริบตา!
เพราะหากกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าขัดแย้ง ประกาศเรื่องคุณสมบัติ หรือต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ที่ สคร.กำกับดูแลอยู่
อีกหน่อยเราอาจได้เห็น ผู้บริหารสายการบินเอกชนตบเท้าเข้ามาสมัครเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT หรือผู้บริหารสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือใต้ชายคา ดอดมาสมัครเป็นผู้ว่าการท่าเรือฯ กทท.
ด้วยข้ออ้างบริหารกิจการ หรือลงนามในสัญญาในฐานะตัวแทนองค์กร ไม่ได้ผูกพันตัวบุคคลก็เป็นได้ ทำเป็นเล่นไป จริงไม่จริง!!!!
แก่งหิน เพิง