กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเยี่ยมชมธุรกิจสายมูรายใหญ่ พบข้อมูลที่น่าสนใจผู้ประกอบการเป็นคนรุ่นใหม่สนใจธุรกิจโดยเริ่มต้นจากความชอบ เกิดเป็นความศรัทธา นำพาไปสู่การสร้างธุรกิจซื้อ-ขายพระเครื่องเจ้าดังในนาม “คู่หูดูโอ้ ดล – ปอนด์” ร้านดังบนห้างพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน และขยายสาขาไปที่เชียงรายรองรับลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ จากการสำรวจตลาดสายมู..ชาวต่างชาติอุดหนุนสินค้าด้านความเชื่อของไทยกันอย่างคึกคัก สร้างเศรษฐกิจสายมู จ.เชียงราย เดินไปข้างหน้า ต่อยอดสร้างรายได้เข้าประเทศ มั่นใจมูเก็ตติ้งของไทยยังไปได้อีกไกล
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่เชียงรายครั้งนี้ได้เห็นโอกาสที่เชียงรายเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมมีวัดที่มีเรื่องราว ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่สวยงาม รวมทั้งเป็นเมืองที่มีความสร้างสรรค์สูง จึงคิดว่าผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถประยุกต์นำของดีในพื้นที่มาต่อยอดสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความเชื่อและความศรัทธาหรือมูเก็ตติ้ง ผู้ประกอบการสามารถนำเรื่องนี้มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการรวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งภายหลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านเช่าพระเครื่อง “คู่หูดูโอ้ ดล - ปอนด์” ร้านเช่าพระเครื่องรายใหญ่ในจังหวัดเชียงราย ผู้ประกอบการได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่อมีหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดเฉพาะพระเครื่องอย่างเดียวเท่านั้น โดยเทรนด์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถ้าเทียบกันระหว่างตลาดพระเครื่องกับสินค้าสายมู... สินค้าสายมูดูจะมาแรงกว่าเนื่องจากคนที่นิยมมีทุกวัย..ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเกือบ 100% ประเภทสินค้าที่สายมูนิยม เช่น พญานาค ผ้ายันต์ เครื่องราง เครื่องประดับ แหวน กำไล นาฬิกา กระเป๋า สร้อยข้อมือ สร้อยคอ เครื่องสำอาง น้ำหอม ลิปสติก ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้หญิงมากกว่าพระเครื่อง ที่สำคัญผู้หญิงใจถึงกล้าทุ่มเรื่องการใช้จ่ายมากกว่าผู้ชาย ประกอบกับสินค้าสายมูราคาต่อชิ้นไม่สูงมากนักอยู่ที่ประมาณ 300 – 1,000 บาท ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่ายส่งผลให้มูลค่าตลาดมูเก็ตติ้งน่าจะถึงหลักหมื่นล้านบาท เฉพาะในเมืองไทยยังไม่เท่าไร ส่วนมากจะมูไปต่างประเทศมีการส่งออกสูง โดยประเทศจีนน่าจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุด
ในส่วนตลาดพระเครื่องลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่พอจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่อง มีกำลังทรัพย์ในการสะสม เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพระแท้ ไม่แท้ นิยม หรือไม่นิยม ราคาอยู่ที่ความนิยมในแต่ละช่วงเวลาและความต้องการของตลาด เช่น พระที่หายากหรือพระที่เป็นตำนาน เช่น พระสมเด็จฯ ราคาจะอยู่ที่หลักแสน – หลักล้านแล้วแต่ความพอใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่ผู้ขายต้องรับผิดชอบเรื่องของจริง หรือ ของปลอมให้ลูกค้า พระมีราคาขายออก มีราคารับซื้อคืนเป็นมาตรฐานของท้องตลาด ราคาพระเครื่องขึ้นมากกว่าราคาทองคำแถมไม่มีเพดาน ทองคำซื้อขายกันทั่วโลก มีราคาขึ้นลงตามปัจจัยสนับสนุน ณ เวลานั้นๆ แต่พระเครื่องขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธา บวกกับกระแส มีขึ้น มีลง ไม่แน่นอน แต่คนที่เป็นนักสะสมพระจริงๆ จะรู้ทันราคากันหมด เพราะปัจจุบันมีสื่อมากมายให้เปรียบเทียบ ต่างกับสมัยก่อนซื้อมาหลักร้อย สามารถขายองค์ละเป็นแสนเป็นล้านได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี แม้มีบ้างแต่ก็น้อยมาก เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่เพิ่งเรียนจบบางคนก็มาทำงานตามร้านเช่าพระ พอเริ่มเล่นพระเป็นก็อยากขายเอง ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจพระเครื่อง และธุรกิจมูเก็ตติ้งไม่ใช่กลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 20-30 กว่าปี มีความรู้ด้านการตลาดสามารถใช้โซเชียลเป็นก็ซื้อมาขายไปผ่านการไลฟ์สดซึ่งตลาดจะกว้างกว่าสมัยก่อนมาก คนซื้อขายกันได้ทั่วโลก ลูกค้ามาจากประเทศจีนซื้อขายกันผ่าน WeChat แต่ยังใช้มาตรฐานของคนไทย หากต้องการพระแท้ต้องออกใบรับรองจากสมาคมฯ แล้วส่งไปที่เมืองจีน เมืองไทยเปรียบเสมือนศูนย์กลางความเชื่อและศรัทธาของโลก ตลาดพระเครื่องจึงยึดมาตรฐานของไทยเป็นหลัก
แม้รูปแบบการขายสินค้าเกี่ยวกับความเชื่อจะเปลี่ยนแปลงไป มีช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แต่มั่นใจว่าพลังแห่งความเชื่อและความศรัทธาไม่มีทางเสื่อมคลาย ประกอบกับสังคมไทยยังมีความเชื่อทั้งทางพุทธศาสนา และไสยศาสตร์ ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับความเชื่อเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว แถมมีรูปแบบที่หลากหลายไม่ตายตัว ยกตัวอย่างเช่น การจัดทัวร์ไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทริปละ 3 -10 วัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือ ธุรกิจเครื่องรางของขลัง ของนำโชค หากผู้ประกอบการมองเห็นลู่ทางก็สามารถประคองธุรกิจอยู่ได้แบบยาวๆ คู่สังคมไทยตลอดไป
"นอกจากนี้ จากการสำรวจการตลาดมูเก็ตติ้งใน จ.เชียงราย พบว่า ตลาดรอบๆ วัดดังในจังหวัดมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยืนเลือกซื้อสินค้าสายมูกันอย่างคึกคักและต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้ธุรกิจข้างเคียง เช่น ธุรกิจใส่กรอบรูป ใส่กรอบพระ ธุรกิจถ่ายภาพ ร้านขายสร้อยสำหรับห้อยพระ ธุรกิจขายตลับ (กล่องใส่) พระเครื่อง และอีกหลากหลายธุรกิจพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ทำให้ยิ่งมั่นใจว่า เศรษฐกิจสายมูของประเทศไทยยังสามารถเดินไปข้างหน้าได้อีกยาวไกล สร้างรายได้เข้าชุมชนและเข้าประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง และเป็นอีก 1 ธุรกิจที่ชวยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและเข้มแข็งมากขึ้น โดยข้อมูล ณ 31 กรกฎาคม 2567 มีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมสายมู (โหราศาสตร์และความเชื่อศรัทธา) อยู่ 154 ราย เกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยข้อมูลงบการเงิน ปี 2566 ธุรกิจในกลุ่มนี้สามารถทำรายได้ 227.89 ล้านบาท (+52.92% จากงบปี 2565) ทั้งนี้ผู้ประกอบส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา จึงขอเชิญชวนให้เข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ อย่างไรก็ตามขอเตือนนักลงทุนที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจสายมู ต้องทำการศึกษาตลาดให้ดีก่อนการลงทุน เรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจอย่างถ่องแท้ และพยายามเรียนรู้รูปแบบธุรกิจที่แท้จริงจากผู้ที่มีประสบการณ์หรือผู้ที่เข้ามาในตลาดก่อนจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการประกอบธุรกิจ และสร้างผลกำไรได้ในอนาคต ตามที่ได้คาดหวังไว้” อธิบดีอรมน กล่าวในตอนท้าย
เกร็ดความรู้ “มูเตลู” คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เรื่องลี้ลับ ของขลัง ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การดูไพ่ การเสริมดวงและโชคชะตา การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฯ ปัจจุบัน "มูเตลู" เป็นการหลอมรวมความเชื่อจากทางพุทธ พราหมณ์ การนับถือผีและสิ่งเร้นลับเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นความเชื่อที่เสริมกำลังใจผู้นับถือบูชาให้สมหวังในสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น ด้านการงาน การเงิน และความรัก ส่วนที่มาของคำว่า "มูเตลู" มาจากภาพยนตร์สยองขวัญของประเทศอินโดนีเซีย เรื่อง “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ (Penangkal Ilmu Teluh)” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาว 2 คน ที่หมายปองชายหนุ่มคนเดียวกัน ต่างใช้มนตร์ดำร่ายคาถาให้ชายหนุ่มหลงรัก โดยการท่องคาถามีคำว่า "มูเตลู มูเตลู" รวมอยู่ด้วย ซึ่งหมายถึงการใช้ไสยศาสตร์นั่นเอง