“สุริยะ” แบ่งงานกำกับในคมนาคมใหม่ ดึงการรถไฟฯ โม่แป้งเอง อ้างมีโครงการลงทุนสำคัญทั้งทางคู่-ไฮสปีดที่ต้องเร่งรัด เตรียมชง ครม.ตั้ง "วีริศ" เป็นผู้ว่า รฟท.คนใหม่วันนี้ แม้เผชิญข้อกล่าวหา ส่อขัดจริยธรรม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 1047/2567 เรื่องมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
โดยให้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 6 หน่วยงาน ดังนี้ 1. กรมเจ้าท่า (จท.) 2. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 5. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และ 6. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.)
ส่วน นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 5. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 6. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.) 7. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)
สำหรับหน่วยงานที่จะดูแลโดยตรง จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย 1. สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 2. กรมทางหลวง (ทล.) 3. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 4. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 5. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 6. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) 7. บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) 8. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ 9. บจ.ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย
นายสุริยะ กล่าวว่า ในส่วนของการรถไฟฯ ที่เดิมได้มอบหมายให้นายสุรพงษ์กำกับดูแล แต่ตนได้ขอนำกลับมากำกับดูแลเองนั้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยเน้นระบบรางและการรถไฟฯ มีแผนการลงทุนจำนวนมาก มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดติดตามงานก่อสร้างให้เป็นไปตามกำหนดเวลา อีกทั้งจะมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ที่จะมีการเร่งรัดเสนอคณะรัฐนตรี
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย. นี้ กระทรวงคมนาคมอาจจะเสนอผลการสรรหาผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่ ให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ ตามที่ รฟท.นำเสนอ โดยมีมติให้ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยังไม่ได้ส่งเรื่องเจราจรค่าตอบแทนกลับมา ทั้งยังมีข่าวว่า สคร. อาจมีข้อทักท้วงให้กระทรวงคมนาคมทบทวนผลการสรรหา เนื่องจากมีข้อร้องเรียนในเรื่องการขาดคุณสมบัติ และประโยชน์ทับซ้อน