จับตาวันพุธที่ 9 ต.ค.67 นี้ คณะทำงานของพรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 2 ตามที่มีผู้ลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ” ไว้กว่า 36 ล้านคน
….
รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แจกเงินสดกระตุ้นเศรษฐกิจ (ดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 1) ให้กลุ่มคนเปราะบาง (ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) 12.40 ล้านคน และคนพิการ 2.15 ล้านคน คนละ 10,000 บาท ไปเมื่อปลายเดือน ก.ย. 67
โดยพบว่า จังหวัดที่มีผู้ได้รับสิทธิตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (5.3 แสนคน) กรุงเทพฯ (4.4 แสนคน) อุบลราชธานี (4.3 แสนคน) เชียงใหม่ (3.9 แสนคน) ศรีสะเกษ (3.8 แสนคน) จังหวัดที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ระนอง (2.7 หมื่นคน) ภูเก็ต (2.8 หมื่นคน) ตราด (3.1 หมื่นคน) สมุทรสงคราม (3.3 หมื่นคน) พังงา (4.2 หมื่นคน)
ขณะที่กลุ่มคนพิการ พบว่า จังหวัดที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (9.9 หมื่นคน) นครราชสีมา (8.5 หมื่นคน) บุรีรัมย์ (6.8 หมื่นคน) อุบลราชธานี (6.2 หมื่นคน) ขอนแก่น (5.9 หมื่นคน) และจังหวัดที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ระนอง (3.9 พันคน) ตราด (4.5 พันคน) สมุทรสงคราม (6.1 พันคน)ภูเก็ต (6.8 พันคน) สิงห์บุรี (7.0 พันคน)
ยกตัวอย่าง จ.ศรีสะเกษ มี 22 อำเภอ ได้รับเงิน 10,000 บาท ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 380,000 คน เท่ากับได้เงินไป 3,800 ล้านบาท ถ้าหารด้วย 22 อำเภอ เท่ากับว่ามีเงินไปหมุนอยู่อำเภอละ 172 ล้านบาท และยังไม่รวมกับกลุ่มคนพิการซึ่งคงมีเป็นหลักพันคน ดังนั้นเม็ดเงินโดยเฉลี่ยคงไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท/อำเภอ
หรือแม้แต่ จ.พังงา มี 8 อำเภอ มีผู้ได้รับเงิน 10,000 บาท ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 42,000 คน เท่ากับได้เงินไป 420 ล้านบาท หารด้วย 8 อำเภอ ประมาณอำเภอละ 52 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย
ดังนั้น เมื่อมีเม็ดเงิน 1.45 แสนล้านบาท กระจายไปทุกตำบล ทุกอำเภอทั่วประเทศ เราจึงเห็นรอยยิ้มของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และเห็นได้ชัดว่าเงิน 10,000 บาท ก้อนนี้มีความหมายสำหรับประชาชนมากๆ ที่ลงไปช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ช่วยสร้างอาชีพให้คนฐานะยากจนอีกจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
“นิด้าโพล” เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนระหว่างวันที่ 1-3 ต.ค.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ทั้งตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัว ได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 กระจายทุกภูมิภาค, ระดับการศึกษา, อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยถามถึงการนำเงินไปใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวได้รับเงิน พบว่า ร้อยละ 86.79 ระบุว่า ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และน้ำมันเชื้อเพลิง) ร้อยละ 16.49 ระบุว่า เก็บออมไว้สำหรับอนาคต ร้อยละ 14.35 ระบุว่า ใช้หนี้ ร้อยละ 13.59 ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ (เช่น ซื้อยารักษาโรคและหาหมอ) ร้อยละ 8.24 ระบุว่า ใช้ลงทุนการค้า ร้อยละ 7.48 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ร้อยละ 1.37 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
“นิด้าโพล” ยังเปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง” โดยอันดับ 1 คือ นายกฯ แพทองธาร 31.35% ส่วนอันดับ 2 ที่ 23.50% ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน 22.90%
นี่คือ..ฤทธิ์ของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 1 จำนวน 1.45 แสนล้านบาท กระจายไปทั่วประเทศส่งผลทำให้ความนิยมของน.ส.แพทองธาร พุ่งแรงแซงหัวหน้าพรรคประชาชน ไปแล้ว!
วันพุธที่ 9 ต.ค.67 คณะทำงานของพรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 2 ตามที่มีผู้ลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ” ไว้กว่า 36 ล้านคน
แต่เมื่อคัดกรองผู้ที่อาจไม่ผ่านคุณสมบัติ หรือผู้ซ้ำซ้อนออกไป อาจจะเหลือยอดจริงๆ ประมาณ 26-30 ล้านคน จะแจกเงินสดให้ครั้งเดียว 260,000-300,000 ล้านบาท ช่วงก่อนสงกรานต์ปี 68 หรือว่าแบ่งจ่ายทีละครึ่ง (ครั้งละ 5,000 บาท/คน) 130,000-150,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดกระแสเงินเฟ้อมากนัก
ลองคิดแบบหยาบๆ ในเฟสแรก จ.ศรีสะเกษ ได้เงินไปหมุนอำเภอละ 172-200 ล้านบาท แล้วเที่ยวหน้าจำนวนคนที่ได้เงิน 10,000 บาท จะเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว นั่นแสดงว่าจะมีเม็ดเงินหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของแต่ละอำเภอ 400-500 ล้านบาท บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยจะคึกคักขนาดไหน เม็ดเงินคงสะพัดน่าดู!!
เสือออนไลน์