วงดินเนอร์วันที่ 21 ต.ค.67 เป็นที่จับตาของคอการเมืองว่ามีความหมายต่อรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง จากปัญหาความ “เห็นต่าง” ของพรรคร่วมรัฐบาลใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.เรื่องกฎหมาย “ประชามติ” ประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม
…
ช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 21 ต.ค. 67 นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งวงดินเนอร์กันที่โรงแรมโรสวูด ย่านเพลินจิต กรุงเทพฯ
เป็นการดินเนอร์ครั้งแรกของนายกฯ แพทองธาร หลังจากเข้ามารับตำแหน่งต่อจากนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีการดินเนอร์กันครั้งหลังสุด โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นเจ้าภาพ
วงดินเนอร์วันที่ 21 ต.ค. 67 เป็นที่จับตาของคอการเมืองว่ามีความหมายต่อรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง จากปัญหาความ “เห็นต่าง” ของพรรคร่วมรัฐบาลใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เรื่องกฎหมาย “ประชามติ” ประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม
เรื่องแรก เกี่ยวกับกฎหมายประชามติ ที่ยังคาราคาซังกันอยู่ระหว่างมติที่ประชุม สส. กับมติที่ประชุม สว. เห็นกันไปคนละทาง โดยมีเสียงส่วนใหญ่ของ สส.พรรคภูมิใจไทย ทำเลียบๆ เคียงๆ อยู่ตรงกลาง ยังไม่ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะเทความเห็นชอบไปทางฝั่งไหน ท่ามกลางข้อครหาว่าพรรคภูมิใจไทยกับ สว. คือ “คนกันเอง” ยักคิ้ว หลิ่วตากันรู้เรื่อง!
ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนฯ มีมติเสียงส่วนใหญ่ 2 ครั้ง (ครั้งที่ 2 สส.พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง) ในประเด็นการออกเสียงลงคะแนน “ประชามติ” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง (เสียงข้างมากชั้นเดียว) ตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ทำประชามติ ถ้ายกร่างฉบับใหม่ โดยไม่ได้กำหนดว่าให้ใช้เสียงข้างมากกี่ชั้น
เมื่อไม่ได้กำหนด ก็ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบัน ตอนทำประชามติในปี 59 ใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ควรทำไปตามนั้น ไม่ควรทำให้ง่ายหรือยากขึ้น ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 60 ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงกี่เปอร์เซ็นต์
แต่ สว. กลับมีมติเสียงส่วนใหญ่จะเอา “เสียงข้างมากสองชั้น” คือ ผู้มาใช้สิทธิต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเมื่อมาลงคะแนน ต้องใช้เสียงข้างมากอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้เสียงข้างมากผ่านประชามติไปได้
จึงต้องเสียเวลาตั้งกรรมาธิการร่วม 2 ฝ่าย มาพิจารณาหาข้อสรุปอีกครั้ง ทำให้เสียเวลา เผลอๆรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่มีทางทำทันภายในรัฐบาลนี้ และสภาผู้แทนฯชุดปัจจุบัน
เรื่องที่สอง คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิด ผู้เห็นต่างทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน ยังยึกๆ ยักๆกันอยู่ เพราะหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยที่จะเอาคดี 112 มารวมไว้กับการนิรโทษกรรมครั้งนี้
จะว่ากันไปแล้วคดีทางเมืองของกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มนกหวีด ส่วนใหญ่คดีจบในชั้นศาล มีการทยอยยกฟ้อง บ้างก็ติดคุกกันไปเกือบหมด
ยังเหลืออยู่บ้างเกี่ยวกับคดีปิดล้อม-ขัดขวางเลือกตั้งในปี 57 ของแกนนำม็อบหวีด อยู่ระหว่างรอการพิจารณาในชั้นศาลฎีกา, คดีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช. กรณีปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์, คดีสลายม็อบเสื้อแดง ช่วงปี 52-53 ที่มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บกว่าพันคน แต่สำนวนคดียังไม่ไปถึงศาล
คดีการเมืองที่เหลือส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของม็อบประชาชนคนรุ่นใหม่-นักเรียน-นักศึกษา เกี่ยวกับมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) และมาตรา 112
พรรคเพื่อไทยจึงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก! ในประเด็น 112 เมื่อต้องมองไปยัง “อนาคตทางการเมือง” ของพรรค! ไหนจะ “เจ้าของบ้านจันทร์ส่องหล้า” ก็มีคดี 112 ติดอยู่ด้วย
เรื่องกฎหมายทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า!
คงไม่เท่าไหร่ เพราะตอนนี้ผู้คนเพ่งเล็งไปยัง “สว. - พรรคภูมิใจไทย” ทำท่ายื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนิรโทษกรรม 112 นี่สิ!
พรรคเพื่อไทยโดนไปเต็มๆ
เสือออนไลน์