กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด อันดับที่ 1 เรื่อง “ปปง. เปิดช่องทางให้ผู้เสียหายจากคดีดิไอคอนกรุ๊ป ติดต่อรับเงินคืน ผ่านเพจ แจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน” รองลงมาคือเรื่อง “ปปง. ยึดทรัพย์หมื่นล้านจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตรียมคืนเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ถูกหลอก” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 821,387 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 400 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 375 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 21 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 248 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 101 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ปปง. เปิดช่องทางให้ผู้เสียหายจากคดีดิไอคอนกรุ๊ป ติดต่อรับเงินคืน ผ่านเพจ แจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน
อันดับที่ 2 : เรื่อง ปปง. ยึดทรัพย์หมื่นล้านจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตรียมคืนเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ถูกหลอก
อันดับที่ 3 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรม เปิดให้คำปรึกษาประชาชนที่ถูกหลอกลวงผ่านเพจ ศูนย์ลงทะเบียนและช่วยเหลือทางออนไลน์
อันดับที่ 4 : เรื่อง กองทุนรวมสําหรับมือใหม่ เปิดให้เทรดหุ้นโรงไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
อันดับที่ 5 : เรื่อง ป.ป.ท. เปิดช่องทางการติดตามเงินคืนและช่วยเหลือแจ้งอายัดทรัพย์สิน ผ่านเพจ หน่วยงานปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
อันดับที่ 6 : เรื่อง SET เปิดคอร์สเรียนแล้วเซียน เทรดเป็นใน 15 วัน ไม่มีค่าใช้จ่าย
อันดับที่ 7 : เรื่อง ลงทุนหุ้นผ่านเว็บไซต์ zipmexmarket ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
อันดับที่ 8 : เรื่อง ติดต่อลงทะเบียน คุ้มครองสิทธิ์ผู้โดนโกง ผ่านเพจ News releases for the economy and society
อันดับที่ 9 : เรื่อง PTT เปิดลงทุนสร้างรายได้ ปั้นพอร์ตเริ่มต้น 1,000 สู่กำไรหลักล้านบาท รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 10 : เรื่อง SET เปิดคอร์สบุฟเฟ่ต์ความรู้ เปิดรับจำนวนจำกัด 499 ท่าน
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับ หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องทุกข์ และการเปิดให้ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากบริษัทที่กำลังเป็นกระแส รวมถึงการชวนร่วมลงทุนในหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ โดยข่าวปลอมอันดับ 1 เรื่อง “ปปง. เปิดช่องทางให้ผู้เสียหายจากคดีดิไอคอนกรุ๊ป ติดต่อรับเงินคืน ผ่านเพจ แจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน” ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ” นายเวทางค์ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่าประเด็นดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ โดยเพจดังกล่าวไม่ใช่เพจของสำนักงาน ปปง. และสำนักงาน ปปง. ไม่เคยเปิดเพจเฟซบุ๊กอื่นเพื่อรับคำร้องหรือช่วยเหลือผู้เสียหาย
สำหรับกรณีผู้เสียหายที่ต้องการยื่นคำร้องของคุ้มครองสิทธิ สามารถใช้ช่องทางการยื่นคำร้อง 3 ช่องทาง ได้แก่
1. ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
2. ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
3. ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (จะมีการระบุไว้ในประกาศฯ)
ขณะเดียวกัน ปปง. มีเพจเฟซบุ๊กเดียวชื่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน – ปปง. โดยมีสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกสีฟ้า (Meta Verified) อยู่ด้านหลังชื่อเพจ ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว (ลิงก์ : https://www.facebook.com/AMLOTHAILAND/)
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจาก ปปง. ได้ที่เว็บไซต์ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือ โทร. 02-219-3600
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน สร้างความเสียหาย การเข้าใจผิด เกิดการหลงเชื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถสอบถามผ่าน สายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน”
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com