สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) โดย นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากฉบับเดิม เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้กรอบกฎหมายและกฎเกณฑ์ของแต่ละองค์กร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยการประสานความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของ 2 องค์กรในการกำกับดูแล เพื่อให้ตลาดทุนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นธรรม น่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศต่อไป
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงกรอบการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 องค์กรในงานด้านกำกับดูแลให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน รวมถึงสอดรับกับระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนในปัจจุบัน ตลอดจนสามารถรองรับกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ (1) การกำกับดูแลบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน (2) การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (3) การติดตามดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนและการบังคับใช้กฎหมาย และ (4) การออกระเบียบข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งจะเพิ่มการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับดูแลระหว่างกัน เพื่อให้การทำหน้าที่ของแต่ละองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมกันพิจารณาคำขอกรณีการจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) การขอย้ายกลับมาซื้อขายของบริษัทจดทะเบียนหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) เพื่อให้กระบวนการพิจารณามีมาตรฐานเทียบเท่าการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ และยังจะมีการร่วมกันกำหนดหรือปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยสนับสนุน ป้องปราม หรือยับยั้งพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
อีกทั้งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงแนวทางการทำงานและการประสานงานร่วมกัน ทั้งในระดับคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของทั้ง 2 องค์กร เพื่อให้การขับเคลื่อนทิศทางนโยบายการพัฒนาตลาดทุน การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันกับตลาดทุนอื่น และการกำกับดูแลตลาดทุนของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ทั้ง 2 องค์กรยังมีการหารือในประเด็นที่จะขับเคลื่อนร่วมกันที่สำคัญ ดังนี้
(1) การสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาการลงทุนในรูปแบบใหม่ ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) การสนับสนุนการเพิ่มมูลค่า (value up) ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนมุ่งมั่นที่จะเสริมศักยภาพและมูลค่าของตัวเอง สื่อสารกับนักลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากที่รัฐบาลได้สนับสนุนการขยายรายชื่อหลักทรัพย์ที่กองทุน Thai ESG สามารถลงทุนได้
(3) การส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและขอความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินการ และการทำความเข้าใจกับบริษัทจดทะเบียน
(4) การส่งเสริมผู้ลงทุนให้มีความรู้ (investor empowerment) ผ่าน Open Data ของภาคตลาดทุนและภาคการเงิน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น