เปิดบันทึกกฤษฎีกาชัดๆ ไม่ได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ จะยกเว้นภาษี-แก้ไขสัญญา ต้องให้หน่วยงานหลักดำเนินการเอง
...
เปิดบันทึกข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ขอบเขตอำนาจคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษ (อีอีซี) ทำได้แค่กำหนดเขตพื้นที่ ส่วนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก้ กม.ต้องกลับไปหน่วยงานต้นสังกัด พิลึก! ประมูลท่อส่งน้ำดิบ สกพอ. ยังโยนให้ธนารักษ์ทำเอง แต่กลับตั้งแท่นอนุมัติแก้สัมปทานไฮสปีดเทรนได้
กรณีที่ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกฯ และ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้ไฟเขียวเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตามที่คณะทำงานร่วมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท เอเซียเอราวัน จำกัด ได้ดำเนินการเจรจาเป็นที่ยุติ และสำนักงาน สกพอ. เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในสัปดาห์หน้านั้น
แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกต แนวทางการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งนี้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ กพอ. มีอำนาจที่จะพิจารณาดำเนินการได้หรือไม่นั้น
ล่าสุด มีเอกสารบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กรณีที่คณะกรรมการ กพอ. จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นกรณีพิเศษในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) โดย กพอ. ได้เห็นชอบหลักการกำหนดสิทธิประโยชน์ไปแล้ว ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ว่า สามารถจะกระทำได้หรือไม่นั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีบันทึกแจ้งผลหารือกลับไปยัง สกพอ. โดยระบุว่า โดยที่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ได้รับยกเว้น โดยผลของบทเฉพาะการมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติวินัย การเงินการคลังของรัฐ ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ใช้ถ้อยคำต่างกันกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
กล่าวคือ มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกใช้คำว่า "มีสิทธิ์ได้รับ" กพอ. จึงมีเพียงอำนาจ "ให้สิทธิ์ได้รับการยกเว้น" หรือลดหย่อนภาษีอากรแต่ไม่มีอำนาจ "ยกเว้นหรือลดหย่อน" ภาษีอากรเหมือนกับที่เขียนไว้ในกฎหมายอีก 2 ฉบับ
ดังนั้น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรา 43 (3) ประกอบมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐด้วย โดยเมื่อกพอ.ได้ดำเนินการตามมาตรา 11(4 ) และ (7) ประกอบมาตรา 48 (3) และมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษมีสิทธิ์ได้รับยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีอากรตามที่กพอ.กำหนด และ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามมาตรา 11 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันแล้วหน่วยงานที่มีอำนาจจัดเก็บภาษีอากรก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการออกกฎหมายระดับรอง รองรับตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สามารถยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรที่เก็บจากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษตามที่ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการนั้นได้รับจาก กพอ. ซึ่งอาจแตกต่างกันได้ตามผลของการเจรจา
สำหรับเรื่องหารือกรณีที่ กพอ. และคณะมนตรีกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสิทธิทางภาษีอากรให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแล้ว แต่สิทธิประโยชน์ดังกล่าวอยู่นอกเหนือหน้าที่และอำนาจของ กพอ. เช่นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการจัดตั้งเขตประกอบการค้าเสรี (ฟรีเทรดโซน) หน่วยงานที่มีอำนาจจัดเก็บภาษีอากร มีหน้าที่ต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่ กพอ. และคณะรัฐมนตรีกำหนดใช่หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าเมื่ออยู่นอกเหนืออำนาจของ กพอ. จึงไม่พิจารณาประเด็นดังกล่าว
เห็นได้ชัดเจนว่า กพอ.นั้น มีอำนาจเพียงกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร แต่การดำเนินการให้เป็นไปตามมติ กพอ.นั้น ยังต้องกลับไปดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีอำนาจนั้นๆ โดยตรง หาได้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของ กพอ. แต่อย่างใด
กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟท. และบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานนี้ก็เช่นกัน แม้ กพอ. จะให้ความเห็นชอบแนวทางการแก้ไขสัญญาดังกล่าว แต่หน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรงในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญา คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังคงต้องมีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งต้องผ่านกระบวนการเจรจาตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ.พีพีพี) พ.ศ.2562 โดยที่ รฟท. และกระทรวงคมนาคม ไม่สามารถจะโยนให้เป็นเรื่องของ สกพอ.ได้ หาไม่แล้วหากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ
แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ในการประมูลโครงการจัดหาน้ำดิบในเขตอีอีซี ก็เห็นได้ชัดว่า หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการโครงการยังคงเป็นกรมธนารักษ์ ด้วยถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการเวนคืนที่ดิน สำนักงาน สกพอ. และ กพอ. ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย และไม่ได้นำเสนอโครงการให้ กพอ. อนุมัติแต่อย่างใด ขณะที่การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานการรถไฟฯ เป็นผู้ดำเนินการโดยตรงมาตั้งแต่แรก จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดกลับนำเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานไปให้ กพอ. พิจารณาอนุมัติ แล้วจะส่งเรื่องเข้า ครม. โดยตรง ทั้งที่ กพอ. ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในเรื่องนี้แต่อย่างใด
แก่งหิน เพิง