ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น "ทอล์กออฟ เดอะ ทาวน์"
กับเรื่องของปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่เป็นปมปัญหามากกว่า 65 ปีมาแล้ว กลายเป็นข้อพิพาทที่ยืดเยื้อยาวนานไล่ประวัติศาสตร์กันไม่สิ้นสุด และน่าจะยืดเยื้อไปเป็นศตวรรษโน่นแหละ
ล่าสุด พรรคพลังประชารัฐ นำโดย นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พร้อม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรค และ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน ภายใต้กรอบ MOU 2544
โดยนายไชยมงคล กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ เตรียมเข้าชื่อเพื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หยุดการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานอย่างก๊าซปิโตรเลียม และน้ำมันให้กับกัมพูชา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบโดยจำเป็นต้องคุยเรื่องอาณาเขตให้ชัดเจนก่อนและพรรคขอแสดงจุดยืนว่าจะรักษาอธิปไตยของชาติ ไม่ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือกลุ่มใด แสวงหาผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ หรืออาณาเขต
"ส่วนถ้ายื่นไปแล้วไม่มีการตอบสนองจากนายกฯ ในทางนอกสภา จะทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าถึงเวลาที่ต้องลุกมาปกป้องดินแดน ส่วนในสภาก็จะดำเนินการตามขั้นตอน"
หากทุกฝ่ายจะย้อนไปดูภูมิหลังของบรรดาผู้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
1. แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% , Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% , Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%
2. แปลง B7, B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรคือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%
3. แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตรคือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%
4. แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%
และ 5. แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
ทั้งนี้สิทธิในการสำรวจและผลิตในพื้นที่ดังกล่าว ถูกหยุดนับเวลาเอาไว้จากประเด็นความขัดแย้งในข้อพิพาทดินแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ที่ยังไม่สามารถจะเจรจาให้เป็นที่ยุติได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันกินเวลากว่า 66 ปีแล้ว
ส่วนสิทธิในการเข้าไปสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น เอกชนผู้รับสัมปทานซึ่งมีอยู่หลายรายด้วยกันที่จะได้สิทธิ์ที่ถูกเฉลี่ยแบ่งกันไป โดยอ้างอิงสิทธิ์เดิมที่มีอยู่ ทั้งมิตซุยออยล์ เชฟรอน บริติชแก๊ส และ ปตท.สผ. เป็นต้น
ความพยายามคัดค้านการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานบนพื้นที่ทับซ้อน ดำเนินไปโดยพยายามที่จะชูประเด็นที่ไทยจะ "เสียดินแดนเกาะกูด" ไปให้กัมพูชา
มีการอ้างว่าตามคำตัดสินของศาลโลกตามสนธิสัญญาฝรั่งเศสนััน ไทยควรจะได้สิทธิพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด 26,000 ตารางกิโลเมตร แต่ฝ่ายเดียว แต่กัมพูชากลับใช้เล่ห์เพทุบายด้วยการขีดเส้นแบ่งอาณาเขตตามอำเภอใจ โดยขีดเส้นผ่าไปกลางยอดเขาเกาะกูดที่เป็นอาณาเขตของไทยดื้อๆ จนทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลไทยยังคงยึดถือจุดยืนของประเทศอยู่เช่นนี้ การเจรจาคงไม่มีทางจะได้ข้อยุติแน่ เพราะกัมพูชาเองคงไม่ยอมและคงจะเป็นข้อพิพาทที่ทอดยาวไปตลอดศกนั่นแหละ!
จุดยืนล่าสุดของรัฐบาลนั้น ก็คือ ความพยายามที่จะแยกประเด็นข้อพิพาทเรื่องดินแดนออกไป เพื่อหันมาเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนเพื่อที่ทั้งสองประเทศจะได้นำทรัพยากรก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ก่อนที่ทิศทางพลังงานตามกระแสโลกจะ "เปลี่ยนผ่าน" จากฟอสซิลไปสู่ "พลังงานสะอาด" เพื่อเป้าหมายการลดคาร์บอน
ทั้งหลายทั้งปวง จึงอยู่ที่ความกล้าตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ว่า จะยึดเอาเหตุผลของฝั่งอนุรักษ์นิยม ที่คัดค้านสุดลิ่มทิ่มประตูว่า ถ้าประเทศไทยไม่ได้ผลประโยชน์ในพื้นที่ทั้งหมด (ที่เป็นดินแดนของไทย) ก็ปล่อยทิ้งทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้อย่างนั้น
หรือจะเร่งการเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อน เฉพาะเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ทั้งปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ โดยไม่แตะต้องเรื่องเส้นเขตแดนหรือข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว
แน่นอนว่า หากการเจรจาได้ข้อยุติรัฐบาลทั้งสองประเทศ ย่อมจะได้ประโยชน์ด้านพลังงานร่วมกัน ในค่าภาคหลวงและการจัดเก็บภาษีปิโตรเลียม ตลอดจนโบนัสพิเศษอื่นๆ
แบบเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) พื้นที่ใต้ทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็อ้างสิทธิ์เหลื่อมล้ำกัน แบบเดียวกับกรณีพิพาทไทย-กัมพูชานั่นแหละ
ทำให้พื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 7,300 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่พิพาทที่ทั้งสองประเทศไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์จากทรัพยากรแร่ธาตุในบริเวณนี้ได้ เว้นแต่จะเจรจาทำความตกลงแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันได้เท่านั้น
ประเทศไทยและมาเลเซียได้มีการเจรจาทำความตกลงเพื่อให้สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลบริเวณที่เหลื่อมล้ำร่วมกัน และในที่สุดก็ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้ง "องค์กรร่วม" เพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้พื้นที่ใต้ทะเลในบริเวณที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิเป็น "พื้นที่พัฒนาร่วม"
ในปี 2537 องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ได้ลงนามให้สิทธิสัญญาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 ฉบับ แก่บริษัทเอกชนผู้ประกอบการในพื้นที่ JDA ซึ่งแบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 2 พื้นที่ คือ แปลง A-18 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร และแปลง B-17 และ C-19 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4,250 ตารางกิโลเมตร
กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการในแปลง A-18 คือ บริษัท Triton Oil จากประเทศไทย (50%) กับบริษัท Petronas Carigali จากประเทศมาเลเซีย (50%) ซึ่งบริษัททั้งสองได้จัดตั้งบริษัท Carigali-Triton Operating Company Sdn.Bhd.(CTOC) เป็นผู้ดำเนินงาน
กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการในแปลง B-17 และ C-19 คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากประเทศไทย (50%) กับ บริษัท Petronas Carigali จากประเทศมาเลเซีย (50%) และจัดตั้งบริษัท Carigali PTTEPI Operating Company Sdn.Bhd. (CPOC) เป็นผู้ดำเนินการ
ปี 2542 ได้มีการลงนามในสัญญาสำคัญ 2 ฉบับ คือ สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ แปลง A-18 จากพื้นที่ JDA ระหว่างองค์กรร่วม Petronas Carigali, Triton Oil, Petronas และ ปตท. และสัญญาร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับ Petronas ในการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจาก JDA ในโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย (TTM) และโรงแยกก๊าซ (GSP) ในเขต 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย และรัฐตอนเหนือของมาเลเซีย
ในปี 2543 ปตท. และ Petronas ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด และ Trans Thai-Malaysia (Malaysia) Sdn. Bhd. ขึ้นในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่ได้จากแหล่ง JDA มาใช้ประโยชน์ในทั้งสองประเทศ
จะว่าไปนับตั้งแต่ที่ไทยมีข้อตกลง MOU กับกัมพูชาเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 รัฐบาลแพทองธาร มีโอกาสที่ดีที่สุดที่จะจบดีลสำคัญเรื่องนี้ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
แต่หากปล่อยทิ้งร้างเอาไว้อย่างนี้ โดยทุกฝ่ายยังคงยืนกรานจะไม่มีการเจรจาผลประโยชน์ใดๆ บนพื้นที่ทับซ้อน ตราบใดที่กัมพูชายังคงไม่ยอมรับเส้นเขตแดนที่ไทยประกาศไว้ ซึ่งเป็นไปตามคำตัดสินของศาลโลก
ประเด็นข้อพิพาทนี้ ก็คงจะทอดยาวไปเช่นนี้ตลอดศก!