หรือต้องการ “ก๊าซ-น้ำมันดิบ”
ดีเหมือนกันให้ “รัฐสภา” ตัดสิน
...
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคนายเศรษฐา ทวีสิน มาถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีความตั้งใจที่จะเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงาน (ก๊าซ-น้ำมันดิบ) ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) เพื่อนำก๊าซ-น้ำมันดิบ ขึ้นมาสร้างความมั่นคงทางพลังงาน (ไฟฟ้า) ในระยะยาว และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อหารายได้จากการเก็บภาษี เก็บค่าภาคหลวง รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานอีกด้วย
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 67 น.ส.แพทองธาร กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ กดดันให้ยกเลิก “เอ็มโอยู 44” โดยเห็นว่ายังมีปัญหาทางกฎหมาย และยังไม่ได้ผ่านรัฐสภา ว่า เอ็มโอยู 44 จริงๆ แล้วในเรื่องของตัวกฎหมายยังไม่เข้าสภาก็จริง แต่เรายึดหลักอันนี้ ส่วนเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้อง ขออธิบายว่าเรื่องไม่ฟ้องมันเกิดขึ้นได้ ถ้ามีการยกเลิกฝ่ายเดียว ฉะนั้นการที่เราคุยกันระหว่างประเทศนั้นสำคัญมาก
ถ้าสมมุติว่า จะยกเลิกก็ต้องดูว่าจะยกเลิกเพื่ออะไร ถ้ายกเลิกแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องคิดในเรื่องนี้ มันทำได้แต่ไม่ควรไปยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องมีการคุยกันก่อน ซึ่งต้องขอเวลาเล็กน้อยที่จะคุยกัน
จริงๆ แล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ และตนมีโอกาสเจอกับผู้นำกัมพูชาในช่วงที่ไปประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งไม่มีอะไรเลย ท่านยังพูดว่ามีอะไรให้ทางกัมพูชาซัพพอร์ตประเทศไทยไหม ให้บอกกันมา และจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากกว่า ว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร
ตรงนี้คือ สิ่งที่ต้องขอเน้นย้ำอีกรอบหนึ่ง และการขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน จึงต้องเกิดเอ็มโอยู 44 ขึ้น เพื่อเป็นการหารือให้เข้าใจกันในความที่ไม่เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำต่อ
“หลังกลับจากการไปประชุมเอเปกในวันที่ 18 พ.ย.67 การตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) น่าจะสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งอันนี้ได้บอกกับทางกัมพูชาแล้วว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ แล้วจะคุยทุกอย่างร่วมกันผ่านคณะกรรมการนี้” นายกฯ แพทองธาร กล่าว
ด้าน นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ผลการเจรจาหากจะสำเร็จและยุติได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐสภาทั้งสองประเทศจะต้องให้ความเห็นชอบ ผ่านการเสนอจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินว่า เห็นชอบกับผลการเจรจาหรือไม่ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ
“เสือออนไลน์” ก็ว่าดีเหมือนกันที่จะให้ JTC ของทั้งสองฝ่ายไปหารือเกี่ยวกับรายละเอียดในด้านต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่ ครม. เมื่อผ่านจาก ครม. แล้วจึงนำเข้าสู่รัฐสภา เพื่อให้ “สมาชิกรัฐสภา” ให้ความเห็นชอบ คราวนี้แหละจะได้เห็นตัวตนว่า
พรรคการเมืองไหน สส.-สว.คนไหน เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย! ใครต้องการให้ขุดก๊าซ-น้ำมันดิบขึ้นมาใช้พัฒนาประเทศ หรือต้องการให้จมอยู่ใต้ท้องทะเลอยู่อย่างนั้นตลอดไป
ตอนนี้คนคัดค้านการพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ส่วนหนึ่งเป็นพวกกลุ่มเดิมๆ จากที่เคยปั่นกระแสเรื่อง “เขาพระวิหาร” เมื่อ 10 ปีก่อน ผสมโรงกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกตัวแรง! ล้อฟรี! คล้ายๆ ต้องการเอาคืน! หลังจาก “ตกขบวน” ไม่ได้ร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร หรือเปล่า?
ขณะที่พรรคใหญ่ที่มี สส.เกิน 100 คน อย่างพรรคประชาชน กลับไม่ได้ออกตัวแรง!มากนักในเรื่อง OCA เพราะพลพรรคนี้คงชั่งน้ำหนักแล้วว่าระหว่างการ “คลั่งชาติ-คลั่งเกาะกูด” กับ “ความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต” พวกเขาควรจะเลือกอะไร!
เพราะถ้าเลือกผิดทิศ ผิดทาง! เลือกตั้งคราวหน้า “พรรคประชาชน” ก็ลำบาก!!
เสือออนไลน์