หักดิบคำสั่งศาล-มติกรรมการกฤษฎีกา
…
จะยังไงต่อล่ะทีนี้!
กรณีอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ หรือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์
เป็นการ "ตัดจบปัญหา" คาราคาซังที่มีมานับ 10 ปี ชนิด "หักดิบ" คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่เคยมีคำพิพากษากรณีที่ดินจำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 288 ไร่ ของผู้มากบารมีแห่งเทศบาลนครบุรีรัมย์ว่า เป็นที่ดินการรถไฟฯ
ก่อนส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว รวมไปถึงที่ดินแปลงอื่นๆ อีกกว่า 5,000 ไร่ โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลอีก
แต่กระนั้น กรมที่ดินกลับดึงเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงเจ้าปัญหาดังกล่าว ด้วยข้ออ้างต้องให้คณะกรรมการตามมาตรา 61 ดำเนินการตรวจสอบที่ดินเหล่านี้ให้ชัดเจนเสียก่อน รวมทั้ังการรถไฟฯ เอาปากกามาวงว่าตรงไหนเป็นที่ดินรถไฟฯ จนทำให้ขั้นตอนการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ต้องคาราคาซังมานับสิบปี
ก่อนในท้ายที่สุด อธิบดีกรมที่ดินคนใหม่ที่ไต่เต้ามาจากผู้ว่าฯ บุรีรัมย์โดยตรง จะตัดจบปัญหาด้วยการออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินดินบริเวณเขากระโดง ที่ "ตั้งแท่น" กันเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้
พร้อมโยนเผือกร้อนกลับไปยังการรถไฟฯ ให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์หรือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง หากมีหลักฐานที่ชี้ชัดมากกว่านี้
เรียกได้ว่า กว่า 30 ปีที่รถไฟฯ สู้ยิบตาเพื่อพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดินบริเวณเขากระโดง ใจกลางมหานครบุรีรัมย์นั้น แทบจะสูญเปล่า กลายเป็นความว่างเปล่าและอาจต้องกลับไปนับ 1 ใหม่ ในการไล่ฟ้องผู้ครอบครองที่ดินรถไฟกันเป็นรายแปลง
เอาเป็นว่าหากจะต้องไล่ฟ้องผู้ครอบครอง 850 แปลง 5,000 ไร่ ก็คงฟ้องกันไปชั่วลูกชั่วหลานประเภทเกิดสิบขาติก็ไม่รู้จะมีคำพิพากษากันออกมาได้หรือไม่ หรือแม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดออกมาแล้ว จะบังคับตามคำพิพากษาได้อย่างไร?
หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว กระทุ้งให้ฟ้องเอาผิดอธิบดีกรมที่ดิน ใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมทั้งยังจี้ให้เอาผิดด้านจริยธรรมไปถึง นายอนุทิน ชาญวีระกุล มท.1 ที่เพิกเฉยไม่ใช้อำนาจบังคับบัญชีให้กรมดำเนินตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด
มีการนำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ดิน "สนามกอล์ฟอัลไพน์" ของตระกูลชินวัตร ที่ก่อนหน้ากรมที่ดินอ้างว่า ตรวจสอบแล้วเป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามคำวินิจฉัยของกรรมการกฤษฎีกา ทุกฝ่ายจึงดิ้นพล่านจะเป็นจะตาย ให้กรมที่ดินเร่งดำเนินการเพิกถอน กรรมสิทธิ์เพื่อนนำที่ดินกลับคืนสู่วัด (ทั้งๆ ที่ทางวัดก็ยืนยันไม่ต้องการรับมอบที่ดินดังกล่าวคืน)
แม้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงคมนาคม จะออกโรงสั่งให้การรถไฟฯ อุทธรณ์ต่อศาลปกครองเพื่อคัดค้านการดำเนินการของกรมที่ดินว่าดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้าหรือ
และก็ให้น่าแปลกที่ กมธ.ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนฯ ที่มี นายโพนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน เป็นประธาน ที่เล็งนำกรณีดังกล่าวเข้าถกเป็นวาระเร่งด่วนในกรรมาธิการ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะองค์ประชุมกรรมาธิการไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถลงมติตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้
ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็รีบออกตัวว่า สิ่งที่การรถไฟฯ และคมนาคม ออกมางัดข้อกรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทยนั้น คงจะไม่สร้างความขัดแย้งให้กับพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยแน่ เพราะทุกเรื่องเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว
แต่บางสื่อวิเคราะห์ไปไกล "มันจบแล้วครับนาย"
กรมที่ดิน "หักดิบ" ป.ป.ช.-ศาลปกครอง?
หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยไปดูแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่อธิบดีกรมที่ดินได้เคยทำเรื่องหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ตามหนังสือที่ มท 05052/898 ลงวันที่ 21 มี.ค. 2555
และสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือที่ อส 0005/ 5403 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 2555 ตอบกลับข้อหารือกลับมายังกรมที่ดิน โดยระบุว่า ตามที่กรมที่ดินได้หารือ กรณีที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดิน เลขที่ 3466 และ 8565 ตำบลอีสาน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ 2542
กรณีดังกล่าว กรมที่ดินได้ดำเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่บัญญัติให้เฉพาะอธิบดี หรือรองอธิบดีผู้ได้รับมอบหมาย ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และพฤติการณ์ให้ครบถ้วนโดยเร็ว เพื่อมีคำสั่งเพิกถอน หรือแก้ไขโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือมิชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์ทางศาลไว้แล้ว แต่อธิบดีกรมที่ดินมีความเห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ว่า เป็นที่ดินของการแห่งประเทศไทยจึงไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ความเห็นของกรมที่ดินจึงขัดแย้งกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติ
กรมที่ดิน จึงขอหาหรือว่า 1. การที่กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการเพิกถอนโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เป็นไปตามในมาตรา 61 พ.ศ 2542 หรือไม่ประการใด
2. เมื่อกรมที่ดินได้พิจารณาความเห็นไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการส่งเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่ง หรือมีคำพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ตามในมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือไม่ ประการใด และหากต้องดำเนินการตามในมาตรา 9 ดังกล่าว กระบวนการขั้นตอนจะเป็นอย่างไร สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ 2542 ได้หรือไม่ ประการใด
#โยนลูกให้ #รถไฟ ไล่ฟ้องเอาเอง
สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 99 นั้น ประสงค์จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติหรืออนุญาตให้ 10 ประโยชน์หรือออกเอกสารสิทธิ์แก่บุคคลใดไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการ ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนสิทธิ์ หรือเอกสารสิทธิ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติ หรืออนุญาตไป
จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนจะต้องนำรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจเพื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนที่พิพาท 2 แปลงดังกล่าวต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่นี้ก็คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผู้มีอำนาจฟ้อง โดยไม่จำเป็นต้องนำรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว เสนอต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนพิจารณาก่อน
ดังนั้น การที่อธิบดีกรมที่ดิน เห็นควรไม่เพิกถอนโฉนด ย่อมไม่มีผลกระทบต่อการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะฟ้องหรือร้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 99 และไม่เป็นการโต้แย้ง หรือขัดต่อหลักการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กรมที่ดินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อทราบผลการพิจารณาของอธิบดีกรมที่ดิน ที่ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินที่พลาด และแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการจัดทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 99 ต่อไป
กล่าวได้ว่า กรมที่ดินได้ "ตั้งแท่น" ที่จะไม่เพิกถอนกรรมสิทธิ์ หรือเอกสารสิทธิ์ที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีมะโว้โน้นแล้ว และยังได้เตรียมทางหนีทีไล่ ด้วยการหารือแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งก็มีหนังสือตอบมาอย่างที่กล่าวข้างต้น
แต่กระนั้นที่ผ่านมา อดีตอธิบดีกรมที่ดินไม่ว่ารายใดก็ไม่กล้าทำหนังสือแจ้งยกเลิกการเพิกถอนกรรมสิทธิ์ หรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงแปลงเจ้าปัญหา รวมทั้งแปลงอื่นๆ ทั้งหมด ด้วยเกรงจะถูกฟ้องร้อง หรือถูก ป.ป.ช. ตามเช็คบิลเอา
จะมีก็แต่อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบันนี้เท่านั้น พี่ไม่รู้กินดีหมีหรือมีเสือมาจากไหนถึงกล้าปัดฝุ่น ทำหนังสือแจ้งไม่เพิกถอน กรรมสิทธิ์หรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง อย่างไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดคำถามว่าเป็นการ "ดื้อแพ่ง" ต่อคำสั่งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดหรือไม่?
ท้าทายความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช. หรือไม่?
และหากท้ายที่สุดกรณีที่ดินเขากระโดงนี้ ต้องจบลงเช่นนี้ ก็คงจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลปกครองสูงสุดในอนาคต ก็คงเป็นได้แค่กระดาษเช็ดตูดเท่านั้น