รมช.อัครา มอบ 6 หน่วยงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผนึกกำลังทำ MOU เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดภัยจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมพะยูน ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดภัยจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ระยะเร่งด่วน ระหว่าง กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ กรมวิชาการเกษตร เพื่อบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ ลุย Big Cleaning ครั้งใหญ่ ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ – ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่เกษตรกรอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้กรมประมงเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำให้เป็นรูปธรรมและเห็นผลชัดเจน (ระยะเร่งด่วน) สามารถควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัดไม่กลับมาเกิดการระบาดอีกและอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรสัตว์น้ำพื้นเมืองในแหล่งน้ำ ดังนั้น กรมประมง ขานรับนโยบายและเร่งประสาน 6 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร เพื่อบูรณาการร่วมกันที่จะดำเนินการดังกล่าว
สำหรับพิธีลงนาม MOU ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงถึงความร่วมแรงร่วมใจของ 6 หน่วยงาน ที่มุ่งหมายที่จะขจัดปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำให้หมดไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ตามมาตรการที่ 1 คือ การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่ง และการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ตามมาตรการที่ 3 ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 ซึ่งหน่วยงานภาคีทั้งหมดตามที่กล่าวมาจะปฏิบัติราชการแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านวิชาการ และการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำปลาหมอคางดำที่จับออกจากธรรมชาติ โดยนำไปกำจัดด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสมและอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ เพื่อรองรับและสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ โดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์การปฏิบัติของทุกหน่วยงาน ภายใต้แหล่งเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร วงเงินงบประมาณ 60 ล้านบาท มีเป้าหมายกำจัดปลาหมอคางดำ จำนวน 3,000,000 กิโลกรัม ซึ่งสอดคล้องตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 มาตรา 7 (4) การดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อป้องกันและขจัดภัยอันจะเป็นผลเสียหายแก่เกษตรกร
โดยบทบาทหน้าที่ของทั้ง 6 หน่วยงานภาคี จะดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละหน่วยงาน โดยในส่วนของกรมประมง จะทำหน้าที่กำจัดปลาหมอคางดำให้หมดจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในพื้นที่ที่เกิดการระบาด และส่งมอบปลาหมอคางดำเหล่านี้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน การยางแห่งประเทศไทย นำไปแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร นำไปกำจัดตามกรรมวิธีที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 7 มาตรการ แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำของกรมประมง อาทิ การสำรวจเก็บข้อมูลทางวิชาการและการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน การนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาไปทดลองแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด และส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ อาทิ น้ำปลา ปลาหยอง น้ำพริก ไส้อั่ว ผงแคลเซียม ปั้นสิบไส้ปลา ฯลฯ
ส่วนหลังจากนี้ จะกลับเข้าสู่การดำเนินการในมาตรการที่ 2 ต่อไป โดยการกำจัดปลาหมอคางดำด้วยวิธีธรรมชาติอีกครั้ง คือ การปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินการมาตรการที่ 6 คือ การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระยะยาว อาทิ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4N เพื่อให้เกิดหมันในปลาหมอคางดำ และกรอบแนวทางงานวิจัยอื่น ๆ ทั้งการกำจัดและควบคุมการรุกรานในแหล่งน้ำธรรมชาติ การประเมิน ติดตาม และเฝ้าระวังการรุกรานในแหล่งน้ำธรรมชาติ การกำจัดและควบคุมการรุกรานในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ การส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทและความร่วมมือของชุมชนและภาคีเครือข่าย การพัฒนาการใช้ประโยชน์ปลาหมอคางดำ ซึ่งกรอบงานวิจัยเหล่านี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินการของบประมาณจาก สวก. นอกจากนี้ อีกมาตรการสำคัญ ซึ่งเป็นแผนการดำเนินการระยะยาว คือ มาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยการฟื้นฟูแหล่งอาศัย การปล่อยสัตว์น้ำประจำถิ่น เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
กรมประมงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า จากแนวทางการปฏิบัติงานและความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม จะสามารถช่วยบรรเทาให้วิกฤตการระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยดีขึ้นและจะขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยได้อย่างยั่งยืน