ถึงกับลนลานออกมาแก้ต่างเพื่อ "ดับไฟแต่ต้นลม" กันจ้าละหวั่น...
กับเรื่องที่กระทรวงการคลังผุดไอเดียสุดบรรเจิด จะปัดฝุ่นปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ "แวต" ในอัตรา 15% ที่ทำเอาภาคธุรกิจน้อย-ใหญ่ และประชาชนคนไทย ต่างหายใจไม่ทั่วท้อง ต่างดาหน้าออกมาร้องแรกแหกกระเชอกันกระหึ่มเมือง
ประชาชนคนไทยยังสำลักพิษเศรษฐกิจกันชนิดแทบโงหัวไม่ขึ้น หลากหลายภาคธุรกิจยังหายใจไม่ทั่วท้อง ไม่รู้จะต้องตกงานกันไหม คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาและโหยหาเงินดิจิทัล 10,000 บาท กันอยู่แท้ๆ จู่ๆ รมต.คลัง กลับออกมาจุดพลุแนวคิดปรับโครงสร้างภาษี ปรับขึ้นแวตให้ขนหัวลุกซะงั้น
เมื่อเจอแรงต้านกระหึ่มเมือง สุดท้าย นายกฯ แพทองธาร ต้องออกทาดับไฟแต่ต้นลม ยืนยันรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นแวตอะไรทั้งนั้น เป็นเพียงการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบของกระทรวงการคลังเท่านั้น ยังไม่มีแนวคิดที่จะนำมาใช้จริง
จะว่าไป แนวคิดในการปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลัง ที่มักอ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น หลายต่อหลายครั้งมีแต่ "ล้มเหลวไม่เป็นท่า" ไอ้ที่ตั้งแต่มาจะรีดภาษีคนรวยช่วยคนจน ลดช่องทางทางสังคม อะไรนั้นก็เป็นได้แค่ฝัน หลายภาษีที่ออกมาแทนจะรีดภาษีคนรวย ความซวยกลับมาตกเอาประชาชนหาเช้ากินค่ำแทนซะงั้น
ไล่ดะมาตั้งแต่ "ภาษีมรดก" ที่ออกมาเมื่อปี 2558 ที่กระทรวงการคลังโอ่นักโอ่หนาว่า จะเป็นมาตรการรีดภาษีคนรวย ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่เอาเข้าจริงกลับเหลวไม่เป็นท่า จัดเก็บภาษีไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันแม้แต่น้อย เอาว่าไม่ติด 1 ใน 10 ภาษีที่คลังจัดเก็บได้แต่ละปีด้วยซ้ำ ด้วยข้อจำกัดและข้อยกเว้นที่มียุบยับ
ไหนจะยกเว้นจัดเก็บกองมรดกที่ต่ำกว่า 100 ล้าน หรือกรณีเป็นสามี-ภรรยาเจ้ามรดกก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และยังมีข้อจำกัดจะจัดเก็บแต่กองมรดกประเภทอสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก และยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น ส่วนเงินสด ทองคำ เครื่องเพชร พลอยของสะสมทั้งหลายได้รับยกเว้น และหากกองมรดกที่ว่า มีการระบุให้ใช้เพื่อการกุศลหรือเพื่อสาธารณะด้วยก็ได้รับยกเว้นอีก
เลยทำให้ภาษีมรดกที่คลังหวังจะรีดภาษีคนรวยช่วยคนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่า จนนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" สั่งให้กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังไปดำเนินการทบทวนแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ปีมะโว้ (9 ต.ค. 2566) เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาสามารถบังคับใช้ได้จริง ป่านนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ไม่เห็นกระทรวงการคลังจะรายงานความคืบหน้าอะไรให้เห็น
มาถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่คลังนำเอามาทดแทนภาษีโรงเรือนเดิมที่ใช้มากว่า 50 ปี โดยจะดีเดย์ใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 ก่อนจะเลื่อนมาเป็นปี 2564 - 65 และมีการออกกฤษฎีกาลดหย่อนอัตราจัดเก็บออกมามากมายนั้น
เอาเข้าเข้าจริงเป้าหมายจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรของผู้คน ดัดหลังบรรดาแลนด์ลอร์ดนักเก็งกำไรทั้งหลายแหล่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นก็เหลวไม่เป็นท่าอีก
เป้าหมายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่เจ้าของไม่ยอมนำมาสร้างประโยชน์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลับกลายเป็น "ดาบ 2 คม" ที่ทำเอาประชาชนคนแก่วัยเกษียณที่ไม่มีรายได้ หรือชาวไร่ ชาวนา กลับมาซวยเอาจากที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ส่วนบรรดาแลนด์ลอร์ดที่มีที่ทางใจกลางเมือง หรือครอบครองที่ดินเชิงเขา (หรือจะเขากระโดง) อะไรนั้นกลับไม่อินังขังขอบใดๆ เอากับกฎหมายฉบับนี้
เราได้เห็นเศรษฐีแลนด์ลอดร์ดปลูกผักชี กล้วย อ้อย มะพร้าว หรือมะม่วง กันเต็มพรืด เพื่อจะได้จ่ายภาษีที่ดินในอัตราต่ำ หรือเข้าข่ายได้รับยกเว้น ส่วนชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ที่มีที่ดินมรดก เป็น 100 ไร่ 1,000 ไร่ แต่ไม่มีรายได้ ไม่มีกำลังจะเอาไปทำอะไร กลับต้องถูกบีบหน้าเขียวจ่ายภาษีแทน
ส่วนภาษีอีกหลายตัวที่คลังเคยคิดจะทำคลอดมารีดภาษีคนรวย ไม่ว่าจะภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สิน Capital gain Tax ภาษีกำไรจากการขายหุ้นที่คลังตั้งแท่นจะนำมาใช้ตั้งแต่ปีมะโว้นั้น ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ด้วยข้ออ้างกระทบบรรยากาศการลงทุน ทำนักลงทุนขวัญหนีดีฝ่อ
แต่กับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการทุกชนิดประเภท และภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ภาษีสรรพสามิต เหล้า-เบียร์นั้น ทุกครั้งที่มีเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างภาษีก็มักจะตกเป็น "จำเลยรัก" ที่เป็นต้องถูกโขกถูกสับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้แต่ครั้งล่าสุดนี้ เชื่อเถอะสุดท้ายก็จะมาลงเอยที่ “จำเลยรัก” เหล้าเบียร์นี้อีกตามเลย ปูเสื่อรอดูกันได้เลย
แก่งหิน เพิง