นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังเข้าร่วมงานแสดงพลัง “Fight Against Corruption สู้ให้สุด หยุดการโกง” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ณ ฮอลล์ 7 อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยรัฐบาลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เพื่อแสดงออกถึงเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เนื่องจากตระหนักดีว่าปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานาน ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในมุมมองของนานาชาติ จากการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวัดสถานการณ์การทุจริตในแต่ละประเทศ ที่นักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศใช้ประเมินความน่าสนใจลงทุนของแต่ละประเทศ โดยมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการเข้ามาประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตามผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ในระยะที่ผ่านมายังอยู่ในระดับคงที่ มีคะแนน 35 - 36 คะแนนจาก 100 คะแนน แสดงให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
เป็นที่ทราบกันอย่างดีแล้วว่าต้นเหตุของการทุจริตคอรัปชั่น ได้แก่ ระบบอุปถัมภ์ การมีช่องว่างของกฎระเบียบ วิธีปฏิบัติที่ไม่เป็นมาตรฐาน กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย และตัวบุคคลของผู้กระทำการทุจริต กรมประมงจึงมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว และได้กำหนดนโยบายการสร้างคุณธรรม และความโปร่งใสในหน่วยงานของกรมประมง มีการขับเคลื่อนมาตรการเชิงบวกด้านการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยผู้บริหารจะต้องมีจิตสำนึกในการบริหารอย่างมีคุณธรรมและธรรมาภิบาล และมุ่งนำหน่วยงาน ให้ดำเนินงานตามภารกิจด้วยความโปร่งใสและปราศจากการทุจริต
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงการทำงานการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการอนุมัติ อนุญาต เพื่อลดปัญหาการทุจริตจากการเรียกรับสินบน และพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้ในปี พ.ศ. 2567 กรมประมงมีการปรับเปลี่ยนกระบวนงานตามคู่มือประชาชนให้เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ (Fully Digital) จำนวน 23 งานบริการ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 16 งานบริการ นอกจากนี้ กรมประมง ได้เสริมสร้างความคล่องตัวในการทำงานและตัดสินใจในการอนุมัติ/อนุญาต ด้วยการมอบอำนาจให้แก่บุคลากรที่ตั้งแต่ระดับรองอธิบดี ผู้อำนวยการกอง สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์ หน่วยงาน บุคคล เช่น เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำ ศูนย์แจ้งเข้า - ออก เรือประมง ในการลงนามในการอนุมัติ อนุญาต ใบอนุญาต ใบรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการร้องเรียนร้องทุกข์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และในปี 2567 สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนได้สำเร็จร้อยละ 99.05 และกรมประมงยังได้สร้างรุ่นใหม่จำนวน 16 คน นำร่องเป็นพลังคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนองค์กร (DOF Young Blood) ให้เป็นผู้นำที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสในอนาคตและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
ที่สำคัญ ในการร่วมงานแสดงพลัง “Fight Against Corruption สู้ให้สุด หยุดการโกง” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) อธิบดีกรมประมงได้ร่วมประกาศเจตจำนงว่า “จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ และต่อจากนั้นได้สั่งการให้ “ครอบครัวกรมประมง” ทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยเริ่มต้นที่ตนเองก่อน แล้วจะช่วยกันนำพาสังคมไปสู่สังคมที่ปลอดจากการทุจริต” อธิบดีกรมประมง กล่าว