วัดใจ ครม. ไฟเขียวมอเตอร์เวย์ M5 ขยายทางยกระดับโทลล์เวย์จากรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. ตามข้อเสนอคมนาคม ไม่หวั่นถูก BEM ฟ้องสร้างทางแข่งขัน เผยรัฐบาลปลดล็อคสัญญาห้ามสร้างทางแข่งขันไปแล้ว พร้อมให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เชื่อม M6 บางปะอิน-โคราช
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (17 ธ.ค. 67) กระทรวงคมนาคมจะเสนอโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 (M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) ของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อให้ ครม. พิจารณาอนุมัติเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายดอนเมืองโทลล์เวย์กับมอเตอร์เวย์สาย M6 ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา ลดปัญหาการจราจรแออัดทางฝั่งทิศเหนือของกรุงเทพฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยหากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ทางกรมทางหลวง (ทล.) จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ทันที และจะเร่งรัดให้เปิดบริการได้ภายในปี 72
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังมีโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. อีก 1 โครงการ ที่อยู่ระหว่างรอบรรจุเป็นวาระการประชุม ครม. ภายในปีนี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ชิ้นสำคัญ ช่วยเพิ่มทางเลือก และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนมากขึ้น แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะได้บรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมได้พร้อมกับโครงการมอเตอร์เวย์ M5 หรือไม่
ส่วนประเด็นข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ที่อาจถูกบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ฟ้องร้องกรณีสร้างทางแข่งขันนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าประเด็นดังกล่าวได้รับการแก้ไขปลดล็อคข้อสัญญานี้ไปตั้งแต่ ครม. ได้เห็นชอบให้ขยายสัญญาสัมปทานให้แก่ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทต่างๆ ที่มีอยู่นับสิบคดี วงเงินกว่าแสนล้านบาท
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 62 ได้อนุมัติให้ กทพ. ขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับบริษัทจำนวน 17 ข้อพิพาท คิดเป็นมูลหนี้กว่า 78,908 ล้านบาท แบ่งเป็นขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วน A, B และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาวันที่ 28 ก.พ. 63 ไปเป็นปี 2578 และขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ระยะ 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 22 เม.ย. 2570 ขยายไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2578 และสัญญาทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด หรือส่วน C+ ขยายสัญญาไป 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาวันที่ 27 ก.ย. 2569 ซึ่งทั้งสัญญาทั้ง 3 ฉบับ จะสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค. 2578
พร้อมกับให้ทั้งสองฝ่ายยกข้อสัญญาที่อาจก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง หรือการฟ้องร้องออกไป ซึ่งรวมทั้งกรณีการสร้างทางแข่งขันนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะปลดล็อคข้อขัดแย้งต่างๆ ไปแล้ว แต่กรณีการสร้างทางแข่งขันนั้นไม่น่าจะยกเลิกสัญญาข้อนี้ได้ เพราะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน และ supplier เครดิตต่างๆ ของบริษัท จึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อโครงการนี้ได้รับอนุมัติจาก ครม. ไปจนถึงขั้นประมูลก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว เชื่อในว่าบริษัท BEM จะต้องหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้องขอชดเชยความเสียหายจากการสร้างทางแข่งขันของรัฐบาลตามมาอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) หรือ M5 ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นโครงการจากบริเวณแยกต่างระดับรังสิตและมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอินเชื่อมต่อได้โดยตรงกับโครงการมอเตอร์เวย์ M6 โดยรูปแบบจะเป็นการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) ครอบคลุมการก่อสร้างงานโยธา งานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนจัดเก็บรายได้ส่งภาครัฐทั้งหมด