ก.ล.ต.กล่าวโทษบิ๊กบริษัทมหาชน ไล่ตั้งแต่ บมจ. ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และอดีตผู้บริหาร กรณีปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญของแบบ filing และอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ALL) นายดุษฎี เล็กยิ้ม และนายธนากร ธนวริทธิ์ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในความผิดกรณี ALL ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบ filing) ในสาระสำคัญเกี่ยวกับการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ก.ล.ต.ตรวจสอบพบว่า ข้อกำหนดในการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ปรากฏในร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ ALL ที่เปิดเผยไว้ในแบบ filing ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 (ร่างสัญญา) แตกต่างจากสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ ALL ลงนาม ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 (สัญญาฉบับลงนาม) และนำส่งต่อ ก.ล.ต. กล่าวคือ ในร่างสัญญากำหนดเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหตุให้สัญญาสิ้นสุดลง “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์” แต่ในสัญญาฉบับลงนาม กลายเป็นระบุว่า “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ออกหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์” ซึ่งการทำหน้าที่และการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ถือเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อผู้ลงทุนอันมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลและรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นกู้
ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุ นายดุษฎีและนายธนากร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ ALL และเป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของแบบ filing ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งเป็นผู้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
การกระทำของ ALL ดังกล่าวข้างต้น จึงเข้าข่ายปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญของแบบ filing อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนและต้องระวางโทษตามมาตรา 278 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และการกระทำความผิดดังกล่าวของ ALL เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของนายดุษฎีและนายธนากร บุคคลทั้งสองดังกล่าวจึงต้องรับโทษตามมาตรา 300 ประกอบมาตรา 278 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ ALL นายดุษฎี และนายธนากร ต่อ บก.ปอศ.
ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
ฟาดบิ๊ก TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต
ในวันเดียวกันก.ล.ต. ได้กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) (TSF) กับพวกรวม 6 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่บริษัท พร้อมทั้งรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
โดยก.ล.ต.ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในปี 2563 และได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในระหว่างปี 2560 - 2561 นายอรัญ อภิจารี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF* และกรรมการ บริษัท ทีเอสเอฟ เอ็กซ์ตร้า จำกัด (บริษัทย่อย) ในขณะนั้น มีการทุจริตผ่านบริษัทย่อย โดยการทำสัญญาติดตั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์บริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะกับบริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด (GISP) (สัญญาหลัก) โดยระบุให้บริษัทย่อยจ่ายเงินค่ารับโอนสิทธิ จำนวน 3 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนกลับไปให้นายอรัญ ต่อมาบริษัทย่อยทำสัญญาเพิ่มเติมจากสัญญาหลัก เพื่อจ่ายเงินค้ำประกัน จำนวน 50 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนไปให้บริษัท ไลเกอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (Liger) และโอนต่อไปยังบุคคลอื่นอีกหลายทอดตามคำสั่งของนายอรัญ การกระทำของนายอรัญจึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ TSF และบริษัทย่อย โดยมี (1) นางสาวมินทร์ฐิตา ปนาวัฒน์ธนยศ (2) นางสาวกาญจนกร เตชะพันธ์ (3) นางสาวโศภชา เจริญสุข (4) GISP และ (5) Liger เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน
การกระทำของนายอรัญและพวกเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 89/24 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการข้างต้นต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ บก.ปอศ.**
ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
หมายเหตุ :
* ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) (TSF) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566
** ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของ ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560