นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนไม้ผลที่ต้นพืชและผลผลิตอาจเสียหายจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรง แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวจัด ส่งผลให้ไม้ผลหลายชนิดจำเป็นต้องผ่านช่วงอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำ ซึ่งต้นไม้ผลจะเข้าสู่กระบวนการสะสมอาหาร และเร่งกระบวนการออกดอก (Vernalization) ช่วยทำให้ไม้ผลสามารถออกดอกในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิได้ ในฤดูหนาว ไม้ผลบางชนิด เช่น ลิ้นจี่ จะหยุดการเจริญเติบโตและเก็บอาหารไว้เพื่อใช้ในการออกดอกในฤดูที่เหมาะสม ซึ่งลิ้นจี่ต้องการอุณหภูมิต่ำประมาณ 10 - 20 องศาเซลเซียส นานติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์และแหล่งปลูก) เมื่อติดผลแล้วอุณหภูมิสูงขึ้นก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการติดผล แต่ไม่ควรเกิน 40 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้ผลแตกเสียหายได้ อุณหภูมิต่ำทำให้ต้นใช้สารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ น้อยลง ทำให้ต้นซึ่งกักเก็บอาหารไว้มากมีความพร้อมที่จะสร้างดอก นอกจากนั้น เมื่ออุณหภูมิลดลง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสีใบ ต้นไม้ผลจะปิดปากใบเพื่อลดการคายน้ำ ซึ่งทำให้การสังเคราะห์ด้วยแสงต้องหยุดชะงักลง ใบไม้จึงเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง ส้ม หรือแดง ใบพืชอาจเหี่ยวอย่างรวดเร็ว เกิดฉ่ำน้ำบนใบ เกิดแผลบนใบ หรือจุดบุ๋มเล็ก ๆ เมื่ออากาศอุ่นขึ้นบริเวณที่ฉ่ำน้ำนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาว เทา หรือน้ำตาลอ่อน หากอากาศเย็นอย่างต่อเนื่อง พืชอาจตายลงได้
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า อากาศหนาวสามารถกระตุ้นให้ไม้ผลบางชนิดออกดอกได้ ถ้าหากอากาศเย็นอย่างต่อเนื่อง พืชอาจตายลงได้ จึงขอแนะนำวิธีการดูแลสวนไม้ผลในฤดูหนาว ช่วยทำให้ต้นไม้ผลเติบโตแข็งแรง ไม่เสียหาย และพร้อมรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ ขั้นตอนพื้นฐานในการดูแลสวนไม้ผลในฤดูหนาว มีดังนี้
1. รดน้ำเพิ่มขึ้น ผ่านเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน หรือระบบให้น้ำแบบอัตโนมัติ/แบบปกติ อากาศที่เย็นลงทำให้ดินแห้งเร็วขึ้น ต้นไม้บางชนิดอาจทิ้งใบเพื่อลดการคายน้ำ ควรหมั่นรดน้ำต้นไม้อย่างน้อยวันละสองครั้ง แต่ไม่ควรรดแฉะเกินไป เพื่อป้องกันเชื้อราใต้ดิน
2. คลุมดินและป้องกันความเย็นจัด ใช้เศษวัสดุ เช่น เศษใบไม้ ฟาง กาบมะพร้าว คลุมบริเวณผิวดินรอบลำต้นหรือแปลงปลูก การคลุมดินช่วยลดการเติบโตของวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน
3. ลดการใส่ปุ๋ย ในช่วงที่อุณหภูมิเย็น ไม้ผลจะลดกระบวนการสร้างอาหาร จึงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหากจำเป็นต้องบำรุง ควรใส่ปุ๋ยชนิดผสมในน้ำหรือปุ๋ยออสโมโค้ทแทน
4. ตัดแต่งกิ่งไม้แห้ง การตัดแต่งกิ่งไม้แห้งช่วยเพิ่มอากาศให้แสงแดดส่องถึงทุกส่วนของต้น การตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ ๆ ในฤดูหนาวช่วยลดภาระให้ต้นไม่ต้องลำเลียงอาหารไปเลี้ยงกิ่งที่ไม่จำเป็น และป้องกันอันตรายจากกิ่งไม้ที่อาจหล่นร่วงลงมาได้จากลมที่พัดแรง
5. การรักษาความชื้นและธาตุอาหาร เมื่ออุณหภูมิลดลง ควรเพิ่มความถี่ของการให้น้ำเพื่อให้ความร้อนที่สะสมอยู่ระหว่างเม็ดดินระอุขึ้นมาเพิ่มความอบอุ่นให้กับไม้ผล และเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศโดยการพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อเพิ่มธาตุอาหารต่าง ๆ เช่น โพแตสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และสังกะสี เพื่อช่วยกระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์แสง และการลำเลียงแป้งและน้ำตาลได้ดีขึ้น