กังขารัฐเปิดช่องทุนการเมือง แทรก กก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เวทีเสวนาร่าง แก้ไข กม.คุมแอลกอฮอล์ สุดเดือด "ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ" กังขารัฐเปิดช่องกลุ่มทุนนั่งกรรมการควบคุมเครื่องดื่ม ฯ ผิดหลักการ - ทั้งที่ไม่มีประเทศใดในโลกทำ หวั่นเจือสมผลประโยชน์ ‘ตีเช็คล่วงหน้า’ เรียกร้องธุรกิจร่วมรับผิดชอบ
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.), ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.), คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง “ชำแหละร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์... สังคมไทยได้อะไร” หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พิจารณเสร็จแล้ว เตรียมเสนอกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ในต้นเดือนก.พ.นี้
โดยมีเนื้อหาหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น มีการพูดถึงการบำบัดรักษาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกฎหมายเดิมไม่ได้พูดถึง รวมทั้งการให้ตัวแทนเด็กและเยาวชนเป็นกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์จังหวัด แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องการเปิดโอกาสให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ในงานจัดเลี้ยงตามประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีการดื่มแอลกอฮอล์อยู่ด้วย ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ผลิต นำเข้าหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่
ทั้งนี้ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แม้ภาพรวมของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขถือว่าดีขึ้นในบางประเด็น เช่น การควบคุมการโฆษณาที่มีความชัดเจนเรื่องการควบคุมแบรนด์เสมือน แต่ก็ยังข้อมีห่วงใย โดยเฉพาะการเปิดช่องให้ตัวแทนเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมด้านการท่องเที่ยว และตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ เข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เดิมกำหนดหลักการไว้ชัดเจน พ.ศ.2551 ฉบับเดิมกำหนดชัดเจนห้ามไม่ให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการควบคุมฯ อย่างเด็ดขาด
"การเขียนข้อยกเว้นเปิดทางให้ตัวแทนภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แม้จะอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ควรเข้ามาแค่การแสดงความคิดเห็นและให้ข้อข้อเท็จหรือข้อเสนอแนะที่จำเป็น แต่ไม่ควรจะเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดหลักการเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีประเทศไหนก็ทำเช่นนี้"
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร หากสามารถแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการโดยไม่อิงกับกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นไปตามหลักการที่ดี แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ไม่ต่างจากการตีเช็คล่วงหน้านั่นเอง หรือหากจะเข้ามาก็ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ด้าน นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่... พ.ศ. ...) กล่าวว่า หากมองในมิติการควบคุมร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่อนคลายการควบคุมลงบางระดับ เช่น กรณีการให้ขายและดื่มในสถานที่ราชการที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษได้เป็นครั้งคราว ให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่สามารถยืนยันตัวตนและอาการมึนเมาของผู้ซื้อได้ แต่เชื่อว่าหลายเรื่องจะเป็นประโยชน์ต่อควบคุมและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การควบคุมการโฆษณาที่จะระบุว่าใครทำอะไรได้บ้าง และลดโทษต่อการกระทำผิดต่อการโฆษณาของประชาชนทั่วไป การห้ามผู้มีชื่อเสียงโฆษณา รวมทั้งการควบคุมตราเสมือน การให้อำนาจผู้ขายในการขอดูบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบอายุและตรวจสอบอาการของคนเมา การเพิ่มความร่วมรับผิดทางแพ่งต่อผู้ขายที่ฝ่าฝืนกฎหมายและผู้ซื้อที่ก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก มีการเพิ่มโทษปรับสูงขึ้นจากเดิม 5 เท่า กรณีขายให้เด็กและคนเมา การให้กระทรวงสาธารณสุขของบประมาณจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดได้ พร้อมกับเพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ให้สามารถตักเตือนระงับการโฆษณา พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราและสั่งปิดกิจการที่ใช้กระทำความผิดได้
ส่วนประเด็นที่ตนและกรรมาธิการฝ่ายรณรงค์เป็นห่วงมากที่สุดและขอสงวนความเห็นไว้คือ การเข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตัวแทนผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 1 คน และผู้แทนองค์กรการค้า จำนวน 3 คน เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะมีบทบาทสำคัญมากในการออกกฎหมายลูกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการควบคุมสุรา อาจมีปัญหาเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ ผู้แทนจากองค์กรการค้าเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติอยู่แล้ว สามารถแสดงความเห็นได้จึงไม่ควรมาเป็นกรรมการควบคุมอีก
รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการโฆษณาตามมาตรา 32 ที่ว่า เว้นแต่เป็นการสื่อสารทางวิชาการให้แก่สมาชิกในวงจำกัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายได้
นอกจากนี้ ยังไม่ครอบคลุมการสื่อสารโดยใช้อัลกอริทึมคอมพิวเตอร์ หรือระบบ AI แทนการใช้มนุษย์ การส่งโฆษณาแบบจำเพาะรายบุคคลและการดำเนินการของผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ภายนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะ พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อต่างๆ ในกรณีของซีรีส์เกาหลี การนำเสนอพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ อาจเปลี่ยนทัศนคติของคนดูให้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ เพราะนักแสดงทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ทรงอิทธิพล หากคนดูเชื่อว่าดื่มแอลกอฮอล์แล้วช่วยให้ตนกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงและมีความสุขได้เหมือนกับที่เห็นในสื่อคนดูดังกล่าว ก็จะมีโอกาสทำพฤติกรรมเลียนแบบมากขึ้น
นพ.วิธู พฤกษนันต์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประเด็นที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมไทยในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ คือ ความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร่างกฎหมายมีการกำหนดความรับผิดทางแพ่งของผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกรณีที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้รับบริการที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือผู้มีอาการมึนเมา
และต่อมาผู้รับบริการดังกล่าวไปกระทำความผิดที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เมาแล้วขับ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 29 ที่จะถูกแก้ไขใหม่ เรื่องความรับผิดตามมาตรานี้ อาจดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรับผิดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามคำพิพากษาของศาลสูงในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 และ 2541 ตามลำดับ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการบังคับใช้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เช่น ร้านอาหารมีความระมัดระวังมากขึ้นในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้เยาว์และผู้ที่มีอาการมึนเมา เพราะอาจตกเป็นจำเลยร่วมในคดีแพ่งด้วย ส่วนประเด็นที่ยังต้องผลักดันกันต่อไปคือ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับสตรีมีครรภ์ เพราะยังไม่บรรจุเข้าไปในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้ หลักฐานทางวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทารกในครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งลูก ตายคลอด พิการแต่กำเนิด หรือคลอดออกมาแล้วยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กที่ช้าลงกว่าปกติ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้าไปดำเนินการออกมาตรการในทางกฎหมายเพื่อห้ามไม่ให้สตรีมีครรภ์บริโภค รวมถึงห้ามผู้ที่เกี่ยวข้องจำหน่ายจ่ายแจกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับสตรีมีครรภ์ และมีบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนด้วย และเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องร่วมผลักดันกันต่อไป
ทั้งนี้ สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่าที่จะเสนอให้ตัวแทนสมาคม/องค์กรภาคเอกชนที่เข้าร่วมไปเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในทางแพ่ง หากเกิดปัญหากับผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมา แม้ในฝั่งรัฐบาลจะตัดทิ้งประเด็นนี้ออกไปจากร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้วก็ ก็ยังสามารถแก้ไขได้ในชั้นการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ศ. ดร. พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า อยากให้สื่อมวลชนและสังคมไทยช่วยกันส่งเสียงดังๆ ไปถึงสภาผู้แทนราษฎรให้มองเห็นว่าสังคมได้หรือเสียอะไร ภาระที่รัฐบาลและสังคมไทยจะแบกรับจากผลพวงจากกฎหมายฉบับนี้คืออะไร ทั้งนี้อยากย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดื่มสุรา เป็นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมการดื่มสุรา ส่วน นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวว่า การดื่มเแอลกอฮอล์ส่งผลต่อปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้ดื่ม การเสวนาในวันนี้ ทำให้พวกเราได้รู้เท่าทันและนำไปสื่อสารในสังคมวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านสติปัญญา รวมถึงพัฒนาร่างกายและสุขภาพ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป