สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมจับตาคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำพิพากษาคดี กสทช. "พิรงรอง" ถูกบริษัทสื่อสารยักษ์ฟ้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปมออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกในกล่อง "ทรูไอดี" 6 ก.พ.ศกนี้
โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เผยแพร่รายงาน กรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีระหว่างโจทก์ คือบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดและจำเลยคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ในวันที่ 6 ก.พ.2568 นี้
คดีดังกล่าว กลุ่มนักวิชาการและผู้บริโภคเห็นว่า เป็นคดีตัวอย่างที่ กสทช. ได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากการที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังพบว่า บนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน "ทรูไอดี" มีโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดี ได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง
ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ได้เสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ให้ตรวจสอบว่ามีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดๆ หรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลัก “มัสแครี่” (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัททรูดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัทอ้างว่าตนเองเสียหาย จึงฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการชุดนี้ คือ กสทช.พิรงรอง รามสูต
ในคำร้องของบริษัทอ้างว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์ อาจระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มของตน พร้อมอ้างว่าสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (การให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต)
อย่างไรก็ตาม กสทช. พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาในบนแพลตฟอร์มทรูไอดี ในการรับชมเนื้อหาตามประกาศมัสต์ แครี่ ซึ่งการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าวมาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี และยืนยันไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ
ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน 2567 ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องบริษัททรูดิจิทัลฯ ที่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ กสทช. พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ แต่ศาลได้ยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. พิรงรอง ถูกตัดสินว่ามีความผิด และไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ จะต้องสิ้นสภาพการเป็น กสทช. ทันที