สุดช็อค! อาญาทุจริตสั่งจำคุก กสทช."พิรงรอง" 2 ปี ไม่รอลงอาญา เซ่นปมออกคำสั่งเบรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี TRUE ID โดยศาลมองยังไม่มีระเบียบกำกับดูแลบริการ OTT โดยเฉพาะ ส่อต้องพ้นตำแหน่ง กสทช. ทันทีผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษา ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และ จำเลย คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ที่ถูกฟ้องกรณีการออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกในกล่อง "ทรูไอดี" หลังจากมีผู้ร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มีศาสตราจารย์พิรงรอง กสทช. เป็นประธานโดยสำนักงาน กสทช. ออกหนังสือเตือนผู้ประกอบการโทรทัศน์ ทีวีดิจิทัล ให้ทำตามกฎ Must Carry อย่างเคร่งครัด หากมีรายการไปออกอากาศผ่านโครงข่าย หรือแพลตฟอร์มใด จะมีโฆษณาแทรกไม่ได้ ซึ่งในหนังสือเตือน แม้ไม่ได้ส่งตรงไปที่บริษัท ทรู ดิจิทัล โดยตรง แต่ทรูดิจิทัลอ้างว่า ทำให้ตัวเองเสียหาย เนื่องจากผู้รับบริการอาจระงับการเผยแพร่สัญญาณ จึงฟ้องศาลว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเลือกปฏิบัติกลั่นแกล้งให้ได้รับความเสียหาย โดยทรูยังขอให้ศาลสั่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยุติปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะตัดสินคดี แต่ศาลได้ยกคำร้องและได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนีล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง 2 ปี ในความผิดมาตรา 157 ท่ามกลางความตกใจของนักวิชาการ สภาองค์กรของผู้บริโภค รวมทั้งเจ้าหน้าที่ กสทช. ที่ไปร่วมให้กำลังใจ ศ.พิรงรอง ในครั้งนี้ และต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อตำแหน่ง กสทช. หากเจ้าตัวไม่ได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. ทันที#ย้อนรอยคดี ทรูไอดีฟ้อง กสทช.คดีนี้ สืบเนื่องจากการที่ กสทช. ออกหนังสือเตือนไปยังผู้ได้รับการอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียง 27 ราย ให้ระวังการโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสดรายการตามกฎ Must carry หลังจาก กสทช.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า การดูรายการผ่านกล่องทรูไอดีมีการโฆษณาคั่นรายการขณะเปลี่ยนช่อง จึงมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบ ก่อนจะส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ทั้งหมดให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Must Carry โดยเคร่งครัด ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งไปที่ บริษัท ทรูดิจิทัลกรุ๊ป ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม TrueID ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT (แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ) ที่ไม่ได้อยู่ใต้กำกับดูแลตามระบบใบอนุญาตของ กสทช. ก่อนที่บริษัทจะยื่นฟ้อง กสทช.พิรงรอง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลั่นแกล้งให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยอ้างว่า กสทช. ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์กำกับการให้บริการบนแพลตฟอร์ม OTT การออกหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวส่งผลเสียต่อธุรกิจ ยังผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย