
ย้อน 3 คดีดังในมือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ท้าทายจริยธรรม และก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในวงกว้าง ล้วนมีตัวละคร "กสทช. - ทุนยักษ์" เกี่ยวข้อง วงในเผยยังมีอีกคดีที่ "พิรงรอง - 3 กสทช." ต้องปาดเหงื่อ
…
หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา จำคุก ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร กสทช. เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากคดีที่ถูก บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป เจ้าของแพลตฟอร์ม TRUE ID ที่ให้บริการ OTT บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะฟ้องร้องกรณีให้สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือเตือนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องทำตามกฎ Must Carry อย่างเคร่งครัด หากมีรายการไปออกอากาศผ่านโครงข่ายหรือแพลตฟอร์มใด จะมีโฆษณาแทรกไม่ได้

หนังสือเตือนดังกล่าว แม้ไม่ได้ส่งตรงไปที่บริษัททรู ดิจิทัล แต่ทรูดิจิทัลอ้างว่า ทำให้ตัวเองเสียหาย เนื่องจากผู้รับบริการทีวีดิจิทัล อาจระงับการเผยแพร่สัญญาณผ่านกล่อง TRUE ID ก่อนที่ศาลอาญาทุจริตฯจะมีคำพิพากษาสั่งจำคุก ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในแวดวงวิชาการและสังคมอย่างกว้างขวางในขณะนี้
“พิรงรอง” เอ็ฟเฟค ทำไมต้อง "ศาลอาญา"
ในเอกสารเผยแพร่ คำพิพากษาของศาลต่อกรณีดังกล่าว แม้จะย้อนรอยให้เห็นถึงพฤติกรรมของจำเลย (ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง) เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทย์ (True ID) และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
เนื่องจากการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ซึ่งให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นการให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตสาธารณะ หรือ OTT เป็นการทั่วไป ซึ่ง กสทช. ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด
การที่ กสทช. มีหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล ถึงการนำสัญญาณรายการทีวีดิจิทัลไปแพร่ภาพซ้ำ จะมีโฆษณาแทรกไม่ได้ เพราะกฎเหล็ก Must carry นั้น แม้จะไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัท (ทรูดิจิทัล) แต่ก็ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจ
ประกอบกับถ้อยคำที่จำเลยได้กล่าว ในที่ประชุมอนุกรรมการครั้งที่ 3/2566 ที่ใช้คำพูดว่า ต้องเตรียมตัวที่จะล้มยักษ์ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับคำว่า "ยักษ์" หมายถึงโจทก์ (ทรูไอดี) จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
สิ่งที่เป็นข้อกังขาของสังคมต่อกรณีที่บริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป ตัดสินใจยื่นฟ้องคดีนี้ ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบโดยตรง ทั้งที่หนังสือเตือนปมการห้ามโฆษณาที่ขัดหลักเกณฑ์ Must carry ของสำนักงาน กสทช. ที่มีไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต เป็น "คำสั่งทางปกครอง"
หากบริษัทเอกชนที่ได้รับหนังสือ หรือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองดังกล่าว เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นทำให้ธุรกิจเสียหาย ย่อมสามารถใช้สิทธิ์ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวได้โดยตรงอยู่แล้ว
การที่บริษัททรูดิจิตอลกรุ๊ป ตัดสินใจ ยื่นฟ้อง กสทช. พิรงรอง ต่อศาลอาญาทุจริต โดยตรง โดยข้ามขั้นตอนการพิจารณาว่า หนังสือ หรือคำสั่งทางปกครอง ของ กสทช. ข้างต้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงก่อให้เกิดข้อกังขาในสังคมในวงกว้างว่า เบื้องหลังการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตฯ โดยตรงในครั้งนี้คืออะไรกันแน่

ย้อนรอย 3 คดีดังในศาลทุจริต
จากการตรวจสอบคดีความในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าของ กสทช. และบริษัทสื่อสารยักษ์ ยังพบว่า นอกจากคดีที่บริษัททรูดิจิทัลกรุ๊ป ฟ้อง กสทช. ที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาล่าสุดแล้ว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยังมีคำพิพากษายกฟ้อง กสทช. กรณีมีมติ "รับทราบ" การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค ตามมติ กสทช. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในวงกว้างจนกระทั่งปัจจุบัน

โดยคดีดังกล่าว กสทช. ทั้ง 5 คน ที่ประกอบด้วย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ , นายต่อพงศ์ เสลานนท์ , พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ถูกฟ้องข้อหาร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติ จากการร่วมกันมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียงลงมติ "รับทราบ" การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคในการประชุมกสทช.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 โดยจำเลยทั้งห้าจัดให้มีการประชุมและลงมติโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้ง จําเลยที่ 2 ไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัททรู จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงมติรับทราบเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการมิชอบ และการที่จำเลยที่ 3 ในฐานะประธาน กสทช. เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ใช้สิทธิลงมติ 2 ครั้ง ในการประชุมวาระการพิจารณา เรื่อง การรวมธุรกิจระหว่างบริษัทรูกับบริษัทดีแทค เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยดังนี้
1. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 28 บัญญัติให้ กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไป แต่สำหรับกรณีการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค เป็นการพิจารณาเพื่อมีมติหรือมีคำสั่งเกี่ยวข้องหรือผูกพันเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตเฉพาะราย คือบริษัททรูและบริษัทดีแทคเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียหลักก่อน
ส่วนกรณีไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และการรับฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษาอิสระ จำเลยทั้งห้าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการแล้ว
2. จําเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณา จึงไม่มีเหตุต้องห้ามมิให้พิจารณา เรื่องทางปกครองไม่ปรากฏว่ากลุ่มบริษัททรูมีพฤติการณ์แทรกแซงการทำงานของจำเลยที่ 2 จนขาดอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
3. การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค ไม่ใช่เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น แต่เป็นการรวมธุรกิจที่บริษัทจํากัด (มหาชน) 2 บริษัทขึ้นไป ควบรวมกันแล้วนำไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจํากัด (มหาชน) ขึ้นใหม่ โดยบริษัททรูและบริษัทดีแทคสิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเดิม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตรวมธุรกิจของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด เพียงแต่ให้อำนาจ กสทช. เฉพาะในเรื่องการกำหนดมาตรการการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดเท่านั้น และที่ผ่านมา กสทช. เคยพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด 9 กรณี และ 9 กรณีดังกล่าวได้มีการลงมติเพียงรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น ไม่มีกรณีใดที่ กสทช. มีมติอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 เเละ 2 ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
4. การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค กรณีจึงต้องบังคับตามข้อ 41 วรรคสาม ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2555 โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมการ กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กสทช. มีเสียงของผู้เห็นด้วยว่าการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน การลงมติของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทําที่ถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
5. มาตรการเฉพาะที่จําเลยทั้งห้ากําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทคได้พิจารณาข้อกังวลในหลายประเด็น ได้แก่ อัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ การเข้าสู่ตลาดและประสิทธิภาพการแข่งขันและการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย คุณภาพ การให้บริการ การถือครองคลื่นความถี่ การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (มาตรา 77) วรรคสาม ทั้งยังเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และ 22 แล้ว
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป จึงพิพากษายกฟ้อง
เป็นคำพิพากษาที่ยังคงก่อให้เกิดข้อกังขาในแวดวงวิชาการและสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศตามมาไม่สิ้นสุดจนกระทั่งปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ยื่นฟ้อง 4 กสทช.กับอดีตรองเลขาธิการ กสทช.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอีกคดี โดยมี 4 กสทช. ตกเป็นจำเลย ได้แก่ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , นางสาวพิรงรอง รามสูต , นายศุภัช ศุภชลาศัย และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ในข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวหาโจทย์เรื่องเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จำนวน 600 ล้านบาท ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) พร้อมตั้งกรรมการสอบวินัยก่อนปลดนายไตรรัตน์ จากรักษาการเลขาธิการ กสทช.

และ กสทช. ทั้ง 4 ยังได้ร่วมกันเสนอ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ให้ทำหน้าที่รักษาการแทนตนโดยมิชอบอีกด้วย ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตจะมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อ 31 พ.ค. 2567 ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี