
4 กสทช. ลุ้นระทึกปมเด้งรักษาการเลขาธิการ-สอบวินัยซ้ำ ทำชวดตำแหน่งใหญ่ วงในหวั่นคำพิพากษาพ่นพิษซ้ำรอยคดีเก่า "พิรงรอง" เหตุผู้พิพากษาชุดเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ในคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กสทช. เสียงข้างมากรวม 4 คน รวมถึงศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. กรณีร่วมกันมีมติให้ปลดนายไตรรัตน์พ้นจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อมตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง กรณีสำนักงาน กสทช. อนุมัติเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จำนวน 600 ล้านบาท ขัดประกาศหลักเกณฑ์ และมติ กสทช. ซึ่งศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องก่อนหน้า และได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 เมษายนนี้

คดีดังกล่าว นายไตรรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กสทช. เสียงข้างมาก 4 คน พร้อมผู้บริหาร กสทช. อีก 1 คน รวม 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย , รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และ ผศ.ดร.ภูมิศิษธิ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยระบุในคำฟ้องว่า การแต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและมติของ กสทช. นั้น อนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นบุคคลที่จำเลยร่วมกันเสนอให้เข้ามาทำหน้าที่ อันอาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง
การที่จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็น กสทช. เสียงข้างมาก ลงมติให้เปลี่ยนตัวรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง โดยอ้างผลตรวจสอบข้อเท็จจริงของอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น อาจขัดต่อระเบียบของ กสทช. ทั้งยังทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง ส่งผลกระทบต่อโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตนอย่างรุนแรง จึงนำเรื่องขึ้นฟ้องศาล
แหล่งข่าวในแวดวงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ต่างแสดงความกังวลต่อคำพิพากษา ด้วยเกรงว่าจะเจริญรอยตามคำพิพากษาศาลในคดีทรูไอดีก่อนหน้านี้ ที่ลงโทษจำคุกศาสตรจารย์กิตติคุณพิรงรอง 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา จนก่อให้เกิดข้อวิพากษ์อย่าง กว้างขวางทั้งในเนื้อหาคำพิพากษาที่ออกมาและ ผลกระทบในวงกว้างที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่า จะกระทบ ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล กฎระเบียบในการคุ้มครองผู้บริโภค จนทำให้เกิด "เกียร์ว่าง" ขึ้น
โดยหากศาลมีคำพิพากษาว่า กสทช. มีความผิดตามฟ้อง อาจกระทบต่อการทำหน้าที่ของ กสทช. พิรงรอง รวมทั้งกรรมการ กสทช. รายอื่นๆ ด้วย จนอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของ กสทช.ทั้งคณะ ถึงขั้นเกิดสุญญากาศขึ้นได้
"สิ่งที่ทุกฝ่ายเป็นกังวล ก็คือ คณะผู้พิพากษาชุดนี้เป็นชุดเดียวกับที่ทำคดีที่ ทรูไอดีฟ้อง กสทช. พิรงรอง ก่อนหน้าจึงเป็นกังวลต่อผลชี้ขาดที่จะออกมา เพราะหากศาลมีคำพิพากษาว่า กสทช. มีความผิดตามฟ้อง จนเป็นเหตุให้ต้องโทษถึงจำคุกอีก อาจกระทบต่อการทำหน้าที่ของ กสทช. พิรงรอง รวมทั้งกรรมการ กสทช. รายอื่นๆ จนอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของ กสทช.ทั้งคณะ ถึงขั้นเกิดสุญญากาศขึ้น"

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 68 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาจำคุกศาตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร กสทช. เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่ถูกบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป เจ้าของแพลตฟอร์ม TRUEID ที่ให้บริการ OTT ฟ้องร้องอ้างถูกกลั่นแกล้งทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จากการทีสำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบการดิจิทัลให้ปฏิบัติตามกฎเหล็ก "มัสต์แคร์รี่" อย่างเคร่งครัด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตน จึงนำเรื่องขึ้นฟ้องศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาออกมาจนก่อให้เกิดข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในเนื้อหาคำพิพากษาที่ออกมา และผลกระทบในวงกว้าง
ที่สำคัญ ในคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ที่ออกมายังพบว่า แม้คำเบิกความของพยานในคดีจะมีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด และยังมีเอกสารยืนยันชัดเจนว่า พยานในคดีที่ฝ่ายโจทก์นำมาปรักปรำจำเลยในคดีให้การขัดแย้งกันเอง แต่ก็กลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา จนทำให้เมื่อมีคำพิพากษาออกมาจึงก่อให้เกิดข้อวิพากษ์ในวงกว้าง ทั้งในส่วนเนื้อหาคำพิพากษาและผลกระทบในวงกว้างที่เกิดขึ้น จนถึงขั้นมีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่สมบูรณ์ของคำพิพากษาที่ออกมารวมทั้ง มีข้อสงสัยไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในคดีด้วย