
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 เมษายน 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ซึ่งเป็นคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (โจทก์) ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช. พร้อมผูู้บริหารสำนักงาน กสทช. ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1) ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2) , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3) ,รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
โดยศาลฯ มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 ราย เพราะพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักไม่เพียงพอ ท่ามกลางความดีใจของจำเลยทั้ง 5 ที่เดินทางมาเข้ารับฟังคำพิพากษาอย่างพร้อมเพียง ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่ได้เดินทางมาแต่อย่างใด

คดีนี้โจทก์ (นายไตรรัตน์) ได้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่ง กสทช. (ลับ) ที่ 7/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
โดยอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นบุคคลที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้เสนอให้เข้ามาทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการเองทั้งสิ้น อันอาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง (ลับ) เสนอที่ประชุม กสทช. โดยมีความเห็นว่า การดำเนินการสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช.รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจาก กองทุน กทปส. ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำกับสำนักงาน กสทช. และได้นำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.2566 โดยที่ประชุมได้มีมติ
1. รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และ 2.พิจารณาข้อเสนอตามรายงานฯ ที่เสนอว่า การดำเนินการของ การกระทำของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล (โจทก์) รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช. โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ลงมติเสียงข้างมากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และลงมติให้มีการเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (หมายถึงโจทก์) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่พิจารณาลงมติ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และมีมติปลดโจทก์ (นายไตรรัตน์) ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้จำเลยที่ 5 แม้ต่อมาที่ประชุม กสทช. จะได้มีการพิจารณาทบทวนมติดังกล่าว และมีการลงมติใหม่ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามระเบียบ กสทช. แต่ด้วยเจตนาทุจริตจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ก็ยืนยันเสนอและลงมติไม่เห็นชอบให้โจทก์ดำรงตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น การกระทำของจำเลยทั้งห้า ทำให้โจทก์หมดโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน และทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบต่อการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. จึงนำเรื่องขึ้นฟ้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรม