
“ชัชชาติ” ยังตั้งแง่จ่ายหนี้ค้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนหลัง หลังสภา กทม. ไฟเขียวตามข้อเสนอ กก.วิสามัญฯ เร่งจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสีเขียว หวั่นดอกเบี้ยกระฉูดวันละ 5.4 ล้านบาท ล่าสุดไม่ต้องทำอะไรดอกเบี้ยบานไปกว่า 500 ล้านแล้ว ด้าน “นภาพล” ทักท้วง KT ที่ยังฮึดขอสู้ต่อในประเด็นเดิมที่ยกศาลปกครองสูงสุดยกไปแล้ว ชี้รังแต่จะเสียค่าโง่
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ได้พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีข้อเสนอให้ผู้บริหาร กทม. ควรเร่งชำระหนี้ค้างให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เพื่อลดภาระใช้จ่ายจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวันว่า
จะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปพิจารณา พร้อมปรึกษาอัยการเจ้าของคดีด้วย เพราะหนี้ส่วนที่ 2 ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วนการเร่งรัดให้จ่ายหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยวันละกว่า 5.4 ล้านบาทนั้น ตนจะนำข้อเสนอทั้งหมดพิจารณาว่า เพื่อดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยขณะนี้ทาง กทม.ได้ทำหนังสือส่งไปยังอัยการแล้วอยู่ระหว่างรอคำตอบจากอัยการ
สำหรับการจ่ายหนี้ให้กับ BTSC นั้น เบื้องต้นจะทยอยจ่ายทีละงวด และตามจำนวนเงินที่อยู่ในชั้นศาลปกครอง ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการพิจารณาข้อเสนอจากอนุกรรมการฯ ทุกด้านแล้ว เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องทำร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนจะทันกำหนดในสิ้นเดือนเมษายน 2568 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคำตอบจากอัยการ

นายนภาพล จีระกุล สก.บางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กล่าวว่า คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ข้อสรุปว่า การเร่งชำระหนี้ให้แก่ BTSC จะเป็นผลดีกับทาง กทม. เพราะไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย 5.4 ล้านบาทต่อวัน สามารถนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ได้ และการที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ให้เหตุผลว่า แนวทางการต่อสู้ยังคงเป็นประเด็นเดิม ทำให้คณะกรรมการวิสามัญฯ มองว่า ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาครอบคลุมแล้วทุกประเด็น จึงเห็นว่า ผลการพิจารณาของศาลปกครองในคดีที่ 2 จะไม่มีความแตกต่างจากคดีแรก เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากสัญญาเดียวกันหากรอให้คดีสิ้นสุด จะยิ่งทำให้ กทม. ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา MLR+1 ต่อปี หรือประมาณ 8%
“แนวที่น่าจะดำเนินการคือ กทม. นำส่วนต่างค่าจ้างเดินรถ มาชำระหนี้ให้กับภาคเอกชน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย แต่จากการตรวจสอบพบว่าผ่านมา 3 เดือนแล้วนับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาก็ยังไม่มีการชำระเงินให้แก่ BTSC แต่อย่างใด” นายนภาพล ระบุและว่า ผู้ว่าฯ กทม. ควรตั้งคณะทำงานเพื่อไปเจรจากับ BTSC ถึงเรื่องภาระหนี้และอัตราดอกเบี้ยว่า จะสามารถปรับลดหรือหยุดการคิดอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่ เพื่อให้มีตัวเลขที่ชัดเจนในการยื่นขออนุมัติงบประมาณต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ที่ กทม. และ KT ยังค้างชำระให้แก่ BTSC แบ่งเป็น 1. หนี้ก้อนที่ 2 ค่าจ้าง O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565 คิดเป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 12,245 ล้านบาท (เงินต้น 10,127 ล้านบาท + ดอกเบี้ย 2,118 ล้านบาท), 2. หนี้ก้อนที่ 3 ค่าจ้าง O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง ธันวาคม 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 17,121 ล้านบาท (เงินต้น 15,857 ล้านบาท + ดอกเบี้ย 1,264 ล้านบาท) และ 3. หนี้ก้อนที่ 4 ค่าจ้าง O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 จนสิ้นสุดอายุสัมปทาน ต้องจ่ายให้กับบีทีเอสซี ทุกวันที่ 20 ของเดือน (คาดการณ์เบื้องต้น เดือนมกราคม 2568 ถึง ธันวาคม 2568 จะมีมูลหนี้ 8,761 ล้านบาท)