
สสช. เผยผลสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 67 ชี้แนวโน้มการสูบบุหรี่โดยรวมลดลง พร้อมจับตาบุหรี่ไฟฟ้าที่เริ่มได้รับความนิยม และสถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังคงเพิ่มขึ้น
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผย ผลการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของประชากร พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนภาพรวมพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มและยาสูบของประชาชน

โดยผลสำรวจล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่สวนทางกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่มีอัตราการสูบลดลง
ผลการสำรวจ พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 9.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2567 ลดลงจากร้อยละ 17.4 ในปี 2564 ทั้งนี้ ประเภทของบุหรี่ที่ผู้สูบนิยมสูบมากที่สุดคือ บุหรี่โรงงาน (ร้อยละ 12.6) สำหรับประเด็นที่น่าจับตามองคือ "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่มีผู้สูบคิดเป็นร้อยละ 1.5 หรือประมาณ 0.90 ล้านคน


ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังพบว่า จำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีผู้ดื่มถึง 20.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 35.2 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเพิ่มจาก 16.0 ล้านคน หรือร้อยละ 28.0 ในปี 2564
เมื่อพิจารณาถึงประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มบ่อยที่สุด พบว่า เบียร์และคราฟเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงสุด (ร้อยละ 58.3) รองลงมาเป็น สุราขาว/สุรากลั่นชุมชน/เหล้าจีน/ยาดองเหล้า/เหล้าบ๊วย (ร้อยละ 24.2) และสุราสี/สุราแดง (ร้อยละ 14.5)


ผลการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินนโยบายควบคุมยาสูบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและศึกษาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการขยายตัวของนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ การจัดการกับปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินมาตรการที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพ