ผอ.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ชี้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์สะสมมานาน เหตุแพทย์กระจายตัวในแต่ละพื้นที่ ค่าตอบแทนไม่เหมาะสม ภาระงาน ห่วง! ระบบสาธารณสุขไทยจะล่มในเร็ววัน แนะ 13 ข้อแนวคิดในการปฏิรูป เมื่อวันที่ 20 เมษายน ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โพสต์ผ่านเฟชบุ๊ก ว่าการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ปัญหานี้เป็นปัญหาสะสมมานานมากแล้ว และสาเหตุก็มีหลายสาเหตุมาก แต่ละสาเหตุก็ไม่สามารถแก้ได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น ขาดแคลนแพทย์ พยาบาล ก็ผลิตเพิ่ม ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การผลิตเพิ่มก็ยังไม่แก้ปัญหา เพราะมีเหตุที่ซับซ้อน เช่น การกระจายตัวของแพทย์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม ไม่เท่ากัน ภาระงานที่หนักมาก มีหน้าที่ที่แพทย์ พยาบาลไม่ควรต้องรับผิดชอบหลัก แต่ก็มาเป็นหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล เช่น งานด้านคุณภาพ เป็นต้น แต่ช่วงเวลานี้ที่มีข่าวการลาออกของแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพราะน้องๆ แพทย์รุ่นใหม่มีทางเลือก มีทางออก และกล้าตัดสินใจ ไม่เหมือนแพทย์รุ่นผม ที่ไม่มีทางเลือกว่าจะไปประกอบวิชาชีพอะไร ถ้าลาออกจากหมอไป ทำอาชีพอื่นๆ ก็ไม่เป็น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกความงามก็ไม่มี จึงต้องทนอยู่กับอาชีพแพทย์ ดังนั้น การแก้ปัญหาครั้งนี้ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ทั้งระบบสาธารณสุข ไม่ใช่แค่มองว่าขาดแคลนเฉพาะบุคลากร แต่ระบบสาธารณสุขเรามันน่าจะมีอะไรที่ผิดพลาด ถึงทำให้ปัญหามีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน มีความรุนแรงมากขึ้น จนผมกังวลใจว่าระบบสาธารณสุขไทยจะล่มในเร็ววัน ผมขอเสนอแนวคิดในการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยใหม่ ดังนี้1. รัฐควรเลือกผู้นำ ทีมที่ปรึกษาผู้นำ และทีมบริหารกระทรวงสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถและทัศนคติที่ดีต่อการแก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุข เพราะถ้าผู้นำทางการเมือง และผู้นำในระบบราชการขาดประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาคงยาก ไม่สามารถขยับอะไรได้ กระทรวงสาธารณสุขต้องสามารถนำนโยบายที่ถูกต้องมาปฏิบัติ โดยได้รับการสนับสนุนจากนักการเมือง ไม่ใช่ให้นักการเมืองนำนโยบายประชานิยมในการสร้างผลประโยชน์ให้กับนักการเมือง มานำนโยบายที่ถูกต้องของกระทรวงสาธารณสุข2. สร้างความรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะการใช้บริการแผนกฉุกเฉิน การรับตรวจตามการนัดหมายเท่านั้น โดยจำนวนผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับจำนวนแพทย์ที่ออกตรวจ และคำนวณจำนวนผู้ป่วยได้เลย เช่น ในแต่ละวันแพทย์ 1 คนตรวจผู้ป่วยได้ 8 คนต่อชั่วโมง ก็มีการคำนวณมาเลยว่าวันนี้รับตรวจผู้ป่วยจำนวนกี่คน ต่อไปนี้ทุกโรงพยาบาลจะมีระบบการนัดหมายล่วงหน้า แผนกผู้ป่วยนอกรับเฉพาะผู้ป่วยนัดเท่านั้น ผู้ป่วยที่ไม่มีนัดไว้ล่วงหน้าจะมีการจำกัดจำนวนว่าแต่ละวันจะรับตรวจรักษาได้เท่าไหร่ ถ้าฉุกเฉินจริงๆ ตามแนวทางการคัดแยกผู้ป่วยของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับการตรวจที่แผนกฉุกเฉินได้ อุบัติเหตุก็สามารถเข้ารับการตรวจที่แผนกฉุกเฉินได้ เพื่อเป็นการควบคุมภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้หนักเกิน และการตรวจรักษาเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งการทำแนวทางนี้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยทั้งหมด อาจมีผลเสียบ้างในผู้ป่วยที่อยาก หรือต้องการเข้ารับการรักษา แต่จะไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ซึ่งแนวทางนี้ในปัจจุบันก็ทำอยู่แล้วในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือคลินิกเฉพาะโรค ดังนั้นเพียงแค่เป็นการขยายการใช้แนวทางจำกัดผู้ป่วยไปในทุกๆ โรงพยาบาล ยกเว้นคนไข้ฉุกเฉินจริงๆ ที่ไม่สามารถจำกัดได้3. รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ สื่อมวลชน และบรรดาผู้นำในโลกสื่อออนไลน์ทั้งหมด ต้องสนับสนุนนโยบายที่จำกัดคนไข้ ห้องฉุกเฉินต้องให้การรักษาเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ถ้ามีการร้องเรียนอะไร บรรดาสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์อย่าเพิ่งออกมาสนับสนุนผู้ร้องเรียน ต้องให้หน่วยงานทางการแพทย์เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนและรีบจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจุบันเมื่อมีข่าวใดๆ ออกมาทางสื่อออนไลน์ ก็จะมีกระแสต่างๆ สร้างความสับสนให้กับสังคม แล้วส่วนใหญ่กระแสก็จะโจมตีว่าแพทย์ พยาบาลผิดก่อนเสมอ ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลให้แพทย์ พยาบาลหมดกำลังใจอย่างมาก4. โรงพยาบาลทุกที่ให้มีการประเมินว่ามีความจำเป็นต้องเปิดบริการห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ปิดห้องฉุกเฉินในบางโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยน้อย ใกล้ตัวเมือง หรืออัตรากำลังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ควรพิจารณาด้วยว่าทุกอำเภอจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลชุมชนหรือไม่ บางพื้นที่ห่างกันเพียง 15-20 กิโลเมตร ถ้าไม่ได้มีปัญหาด้านการเดินทาง ก็ควรปิดโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยน้อย ภาระงานน้อย เพื่อนำอัตรากำลังไปรวมกันในโรงพยาบาลที่จำเป็นและขาดแคลนแพทย์ พยาบาล5. ปรับการคิดอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล เภสัช และทีมสุขภาพใหม่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง เพราะแนวทางที่ใช้ในปัจจุบันไม่เหมาะสม6. ปรับค่าตอบแทนทั้งเงินเดือน ค่าเวรนอกเวลาราชการ ให้มีความเหมาะสมกับภาระงาน และเงินควรออกให้ตรงเวลา7. สปสช. ควรปรับ mindset ในการบริหารกองทุนบัตรทอง จากที่เป็นผู้มีอำนาจในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบผูกขาด และบังคับให้หน่วยบริการได้รับค่าตอบแทนในการรักษาแบบต่ำกว่าต้นทุนมาตลอด เป็นรูปแบบที่ผู้ให้บริการควรได้รับค่าบริการที่เหมาะสม มีความยุติธรรม และชอบธรรม เนื่องจากภาระงานด้านการเบิกจ่าย กติกาต่างๆ ที่ สปสช. กำหนดไว้ให้สถานบริการต้องทำตามนั้น ก็เป็นภาระงานที่ใช้เวลามากต่อแพทย์ในการจัดการเวชระเบียนผู้ป่วยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ สปสช. การที่ สปสช. จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยให้สถานพยาบาล ก็ส่งผลต่อสถานะด้านการเงินของโรงพยาบาล ก็นำมาสู่ปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และไม่ทันต่อเวลาที่บุคลากรควรได้รับ8. ภายหลังเมื่อแพทย์ลงเวรบ่าย ดึก ควรต้องมีระยะเวลาให้แพทย์พักผ่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ห้ามในการออกตรวจ ดูแลผู้ป่วยใน หรือทำงานใด ๆ โรงพยาบาลต้องจัดหาแพทย์มาปฏิบัติงานให้เหมาะสม9. ลดภาระงานที่ไม่ใช่ภาระงานรับผิดชอบโดยตรงของแพทย์ พยาบาลลง เช่น งานคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ควรมีแนวทางการพัฒนางานคุณภาพให้ชัดเจน มีตัวชี้วัดของโรงพยาบาลในแต่ละกลุ่มตามภาระกิจ หรือศักยภาพของโรงพยาบาลนั้นๆ โดยการประเมินงานคุณภาพต้องมีหน่วยงานและบุคลากรที่ทำงานรับผิดชอบด้านนี้โดยเฉพาะ แพทย์ พยาบาลเป็นเพียงคณะกรรมการที่คอยให้ความคิดเห็น และนำข้อสรุปมาปฏิบัติให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ และพยาบาลต้องรับผิดชอบงานคุณภาพโรงพยาบาลโดยตรง ทำให้ต้องใช้เวลาการทำงานปกติ รวมทั้งเวลานอกราชการมาทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ก่อให้เกิดความเครียดอย่างมาก เพราะเป็นงานที่ไม่มีความรู้มาก่อนเลย ส่งผลกระทบต่องานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง คือ งานรักษาผู้ป่วย10. การคัดเลือกผู้เข้ามาเป็นแพทย์ พยาบาลเน้นไปที่คนในพื้นที่ ทัศนคติที่ดี มีความมุ่งมั่นในการทำงานในพื้นที่ ตลอดจนการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแล้วบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เพียงพอตามความเป็นจริง11. ผู้ป่วยต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสุขภาพ ได้แก่ การร่วมจ่าย ซึ่งเป็นการร่วมจ่ายก่อนเข้ารับบริการ เช่น การเสียภาษีด้านสุขภาพ เพื่อรัฐจะได้มีงบประมาณในส่วนนี้มากขึ้น และในกรณีโรคที่เกิดขึ้นจากการมีพฤติกรรมสุขภาพไม่ดี เช่น เมาแล้วขับ สูบบุหรี่ เป็นต้น12. นำข้อสรุปจากการประชุมการแก้ปัญหาแพทย์ลาออกมาศึกษาอย่างจริงจัง ร่วมกับปัญหาความแออัดของการใช้บริการในโรงพยาบาลที่มีมากขึ้น จะได้ทราบถึงสาเหตุทั้งหมดที่ได้จากการระดมสมอง แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบว่าสาเหตุหลักเลย คือ อะไร อะไรเป็นสาเหตุรองๆ ลงไป แล้วนำข้อมูลที่ได้มาทำการออกแบบสอบถามใหม่ เพื่อรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด ซึ่งส่วนนี้ไม่ควรใช้เวลานานเกิน 1 เดือน หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้ล่าสุดมาหาวิธีแก้แบบที่ไม่มีการจำกัดความคิดว่ามันจะทำได้หรือไม่ได้ก่อน โดยให้น้องแพทย์รุ่นใหม่ๆ เสนอเป็นหลักก่อน เพราะเรากำลังแก้ปัญหาไปในอนาคต ดังนั้นเราต้องถามความเห็นข้อเสนอแนะจากคนรุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุด13. การลงมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ควรเริ่มทันที และไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเราเริ่มลงมือแก้ไขปัญหาวันนี้ ในอนาคตทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าเราคิดว่าแก้ไม่ได้ตอนนี้ แล้วยังไม่ลงมือแก้ไข ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ต่อไป เหมือนกับอดีตที่ผ่านมา ปัญหายิ่งสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ