
เรื่องของ "วิวาทะ" ปมที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไฟเขียวให้ 2 การไฟฟ้าเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ในส่วนโครงการเก็บตกที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา และยังตั้งแท่นจะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 3,600 MW
….
โดยระบุว่า ผลพวงจากการที่รัฐบาลสานต่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดข้างต้น จะทำให้ประชาชนคนไทยถูกมัดมือชกจ่ายค่าไฟฟ้าแพงไปอีก 25 ปี คิดเป็นมูลค่าส่วนเกินนับแสนล้านบาท
ขณะที่กระทรวงพลังงาน โดยผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ออกมาตอบโต้ ยืนยันโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ว่าไม่ได้ทำให้ค่าไฟแพงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยังมีส่วนทำให้ราคาคาาไฟในมือประชาชนลดลงเสียอีก เพราะต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าในสัญญาต่ำกว่าโครงการรับซื้อไฟฟ้าในอดีต
เพื่อให้เกิดความกระจ่าง "เนตรทิพย์ออนไลน์" จึงขอประมวลทั้ง 2 มุมมอง มาตีแผ่ให้ทุกฝ่ายได้เห็นชัด ๆ ดังนี้…
“ศุภโชติ ไชยสัจ และ วรภพ วิริยะโรจน์” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน

"ผม และ สส.เติ้ล - วรภพ วิริยะโรจน์" ได้ทักท้วงและตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทั้งรอบ 5,200 MW และ 3,600 MW แม้จะมีกระบวนการคัดเลือกที่ส่อแววทุจริต ทำให้เกิดการผูกขาดในภาคพลังงานและค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็น แต่รัฐบาลยังคงปล่อยให้มีการลงนามเรื่อยๆ
จนเมื่อวันที่ 19 เมษา ที่ผ่านมา ได้ถึงกำหนดเซ็นโครงการเกือบทั้งหมดของโครงการ 5,200 MW เมื่อปล่อยให้มีการลงนามไปแล้วจะทำให้การยกเลิกทำได้ยาก ประชาชนต้องแบกรับผลกระทบนี้ตลอดอายุสัญญา 25 ปี ผมและพรรคประชาชนจึงขอชี้แจง ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่มีการประมูล ราคาที่รับซื้อเป็นการหาบริษัทที่ให้ราคาถูก และใช้อัตรารับซื้อไฟตั้งแต่ปี 2565-2573 ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะต้นทุนของเทคโนโลยีต่ำลงในทุกปี
ประเด็นที่ 2 อำนาจของนายกรัฐมนตรี กระบวนการรับซื้อไฟฟ้านี้เกิดจากมติ กพช. ซึ่งนายกฯ เป็นประธาน ต่อให้เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาล (เพื่อไทย) และบอกว่าไม่เห็นด้วย ท่านก็สามารถออกมติยกเลิกได้ เช่นกรณีการสั่งชะลอโครงการ 3,600 MW
ประเด็นที่ 3 การที่รัฐบาลอ้างว่าเซ็นไปแล้วบางส่วนจึงยกเลิกไม่ได้ ทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปว่า ท่านกำลังทำเพื่อใคร? กำลังรักษาผลประโยชน์ประชาชนให้ใช้ไฟได้ถูกกว่านี้ หรือแค่รักษาผลประโยชน์กลุ่มทุนที่ได้สัมปทานและเอื้อกำไรให้สูงเกินควร
ประเด็นที่ 4 ตัวแทนรัฐบาลชี้แจงการรับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามกฎหมาย หากพบผิดกฎหมายทีหลังยกเลิกได้ทุกเมื่อ แม้จะไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือเมินเฉยคำว่าทุจริตเชิงนโยบาย แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับคำว่า เหมาะสมและผลกระทบต่อประชาชน เพราะการรับซื้อนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไรเลย แต่ปล่อยให้เอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุน เหมือนปล่อยให้ทุจริตเชิงนโยบายได้ต่อไปเรื่อยๆ
ประเด็นที่ 5 การอ้างว่าต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่มเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตอบโจทย์อนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ พรรคประชาชนเห็นด้วยกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด แต่จำเป็นที่จะเกิดในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจก่อน และรัฐบาลควรส่งเสริมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟโดยรวมของประชาชน

ทางพรรคประชาชนได้เสนอให้รัฐบาลใช้ Direct PPA หรือการที่ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟให้กับผู้ใช้ได้โดยตรงไม่ได้นำต้นทุนมารวมในค่าไฟ แต่รัฐบาลกลับจำกัดให้ใช้แค่ 2,000 MW เฉพาะกลุ่มธุรกิจ data center (ธุรกิจประเภทอื่นใช้วิธีนี้ไม่ได้) และปัจจุบันรัฐบาลยังไม่เปิดให้ใช้จริง ทั้งที่ผู้ประกอบการรอกันมา 10 เดือนแล้ว
ทั้ง 5 ประเด็นที่กล่าวมา ผมหวังว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจในการแก้ไข และยกประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งในการแก้ปัญหานี้ และออกมาตอบคำถามสังคมอย่างชัดเจน และตรงไปตรงมา
สิ่งถัดไปที่ผมและพรรคประชาชนจะดำเนินการต่อ
1. ติดตามการรับซื้อโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานที่ยังมีอีกบางส่วน
2. ติดตามการรับซื้อโครงการ 3,600 MW ที่ถูกชะลออยู่
3. เดินหน้าทุกมาตรการทางกฎหมาย เพื่อหยุดยั้งการรับซื้อไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนในทุกๆ รอบ
“วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

1. การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ RE Big Lot เป็นการดำเนินการจากมติ กพช. ในการประชุมเมื่อ 6 พฤษภาคม 2565 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนไปก่อนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่ และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว
การยกเลิกสัญญา RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้ว จึงไม่อาจทำได้ หากจะมีการยกเลิกโครงการที่ยังไม่ลงนามที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้วเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างโครงการที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนาม
2. ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW ไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อเฉลี่ย 2.7 บาทต่อหน่วย (แสงอาทิตย์ 2.18 บาทต่อหน่วย, ลม 3.10 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS 2.83 บาทต่อหน่วย) ซึ่งต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดย ณ เดือนมีนาคม 68 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย 3.18 บาทต่อหน่วย
ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย ดังนั้นโดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนในพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวมในระยะยาว

3. การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)
การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)
อีกทั้งการเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้า และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ขณะบ้านเรายังถกเถียงกันเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่รัฐบาลดอดเซ็นสัญญาไปล่าสุด จะเป็นต้นตอค่าไฟแพงในสามโลกจริงหรือไม่
เพื่อนเมียนมาของไปไกลถึงขั้นเซ็น MOU กับรัสเซีย จะผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR 110 MW ไปเรียบร้อยแล้ว