
บอร์ดประกันสังคมก้าวหน้า "ธีระชาติ ก่อตระกูล" แฉความฟอนเฟะประกันสังคม ลุยลงทุนราวสามล้อถูกหวยสะเปะสะปะ โดยไม่สนผลตอบแทนต่อผู้ประกันตน นอกจากซื้อตึกร้าง สปส. ที่ชาตินี้ไม่มีโอากาสคืนทุน ยังมีการลงทุนยิบย่อยอีกนับสิบ
นายธีระชาติ ก่อตระกูล อนุไอทีของประกันสังคม โพสต์ผ่านเพจ Max Kortrakul ระบุว่า “มีมติเห็นชอบ”..อยากรู้ไหมว่า ผมต้องเจออะไรมาบ้างกับการทำงานในอนุไอทีของประกันสังคม

ผู้ประกันตนทุกคนทราบไหมครับ ว่าทุกๆ การตัดสินใจที่จะใช้เงินพวกเรา แทบไม่มีใครต้องรับผิดรับชอบอะไรเลยเมื่อเกิดปัญหา เกิดความผิดพลาด ไม่คุ้มค่าหรือส่อทุจริต คนที่มีอำนาจตัดสินใจใช้เงินผู้ประกันตนเหมือนเป็นเงินตัวเอง แต่ทำเหมือนเป็นเงินที่หล่นลงมาจากฟ้า มีให้ใช้ไม่อั้น
- ยกตัวอย่างง่ายๆ สิบปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับไอทีของประกันสังคม รวมแล้วน่าจะเกินหมื่นล้านบาท เงินที่ใช้ไปมากมายมหาศาลและจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ย้อนแย้งกับประสิทธิภาพในการให้บริการ ระบบออนไลน์หรือแอพราคาแพงแสนแพงที่ทุ่มเงินทำไป ผู้ประกันตนรู้สึกยังไงก็ดูได้จากคอมเม้นและจำนวนดาวที่ถูกรีวิวในแอพสโตร์
- มีโครงการแปลกๆ ที่น่าตั้งคำถามอย่างมาก และใช้งบประมาณสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ แค่ส่วนเล็กๆ ที่มีโอกาสได้เห็นเพราะไม่ว่าจะขอข้อมูลอะไรก็ดูยากไปหมด ขอยกตัวอย่างบางโครงการที่น่าสนใจและรอพิจารณา เช่น อยู่ๆประกันสังคมอยากจะทำ Telemed หรือการแพทย์ทางไกลในวงเงินเบาๆ ที่ 700 ล้านบาท หรือเกิดอยากจะทุ่มเงินทำแอพ เพื่อช่วยในการลงทุน ในวงเงินอีกประมาณ 700 ล้านบาท ยังไม่พอประกันสังคมยังอยากจะทำ Financial Gateway เองอีก 210 ล้าน ไม่แน่ใจว่าอยากจะผันตัวไปเป็นสตาร์ทอัพหรืออยากเป็นยูนิคอร์นหรืออย่างไร

และยังมีโปรเจคอีกเต็มไปหมดที่รอการพิจารณา ประกันสังคมอยากจะใช้เงินทำทุกอย่างที่คิดออก แต่กลับไม่คิดจะโฟกัสกับงานหลักของตัวเอง อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น ให้ผู้ประกันตนสามารถรับบริการต่างๆ ผ่านแอพ ทุกวันนี้ก็ยังทำได้แบบขาดๆ เกินๆ ทั้งๆ ที่ลงทุนทำแอพไปหลายร้อยล้านบาท ระบบงานหลักยังใช้เมนเฟรมที่มีอายุการใช้งานมานานแบบน่าจะได้สถิติโลก และที่สำคัญคือ ทุกๆ ระบบที่คิดจะทำขึ้นมา สำนักงานประกันสังคมไม่มีความสามารถใดๆ ในการดูแลของพวกนี้ด้วยตนเองเลย และสุดท้ายผู้ประกันตนก็ต้องมาควักเงินจ้าง outsource ดูแลระบบใหม่ๆ จ่ายเพิ่มแบบไม่วันจบสิ้น
ถามว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้าทำอะไรบ้างมั้ย? ต้องบอกว่า พวกเราทุกคนพยายามอย่างยิ่งที่จะให้เหตุผลเพื่อชวนทุกคนคิดถึงความไม่สมเหตุสมผล พยายามมากตลอดที่ละแสดงความเห็นคัดค้านอย่างถึงที่สุด แต่เมื่อจบการประชุมและสรุปการประชุมทุกครั้ง ไม่ว่าจะพูดแย้งอะไรไปก็ตาม
แต่ สุดท้ายก็จะสรุปว่า “มีมติเห็นชอบ” แล้วส่งเรื่องต่อไป ทั้งๆ ที่เราตั้งข้อสังเกตมากมาย แต่ไม่มีเสียงตอบรับจากใครเลย แม้จะมีการกล่าวในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่าโครงการนี้มีปัญหา และอาจเกิดการทุจริตได้ สุดท้ายไม่มีใครได้ยินและยังยืนยันว่ามีมติเห็นชอบ
ที่ยิ่งแปลกกว่านั้นคือ
ตอบ แต่ไปตอบคนที่เค้าไม่ได้ถาม คือเหมารวมสรุปว่าทีมติเห็นชอบแล้วส่งต่อ โดยไม่ได้กลับมาเคลียร์ประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม แถมมักจะมีความเห็นในแนว ‘ถูกต้องตามหลักวิชาการ’ หรือ ‘เรามีเงินอยู่แล้วสามารถซื้อได้’ หรือ ‘หน่วยงานอื่นจ่ายแพงกว่านี้อีก’ หรือ ‘ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายทุกประการ’ โดยที่ไม่ได้คิดว่าเงินที่ซื้อของพวกนี้ จะนำกลับไปลงทุนได้ และทุกๆ 1 ล้านบาทที่เราประหยัดได้ คือ 4.32 ล้านบาท ในอนาคตข้างหน้า ซึ่งเงินก้อนนี้จะกลับมาดูแลผู้ประกันตนตอนเกษียณ

ปัญหานี้จริงๆ แล้วมัน คือ bug ในระบบราชการ ถึงเราเป็นบอร์ดถึงเรามีความตั้งใจอันดีที่จะเข้ามาผลักดันเรื่องต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่ประกันสังคมไม่ต้องสนใจก็ได้ ใส่เกียร์ว่าง ไม่รับไม่รู้ อ้างระเบียบอย่างเดียว เราเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยเสนออะไรไปก็มีโครงสร้างราชการมาครอบอีกชั้น เจ้าหน้าที่ต้องเอาใจรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็ต้องเกรงใจเจ้าหน้าที่ขาใหญ่ แต่ไม่มีใครเลยสักคนที่จะสนใจผู้ประกันตน ถ้าจะแก้จริงๆ ทางเดียว คือ ต้องปฏิรูปเอาประกันสังคมออกจากระบบราชการให้ได้ และยิ่งกว่านั้น คือ ต้องทำให้ทุกการตัดสินใจ ต้องมีคนรับผิดรับชอบ อยากให้ผู้ประกันตนและนายจ้างช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดการประชุม
รวมถึงเปิดเผยรายชื่อกรรมการทุกคน และเปิดเผยการแสดงความคิดเห็น ว่ามีการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกันตน นายจ้าง หรือใครกันแน่ เพราะนี่คือบันไดขั้นแรกที่จะเริ่มเปลี่ยนให้ทุกอย่างดีขึ้นได้
ถ้าเปิดเผยข้อมูลได้ ถ้าทำให้ประกันสังคมอยู่ในแสง เราอาจได้เห็นบอร์ดไอทีไม่มีความรู้ไอทีใดๆ แต่ออกความเห็นชัดเจนสนับสนุนในสิ่งที่ไม่ควรสนับสนุนอย่างแข็งขันหลายๆ เรื่องจนน่าสงสัย หรือ ผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ใช้ช่องโหว่ความมืดดำของระบบราชการไทย การแสดงความเห็นแล้วใช้สเตตัสมาเป็นน้ำหนัก การใช้กฎหมายมาขู่ว่าถ้าไม่ทำตามที่เสนออาจจะต้องถูกฟ้อง หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ถ้าเพียงแค่เราเปิดข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้ ให้สังคมได้เห็นว่าแต่ละคนแสดงออกและตัดสินใจอย่างไร ผมเชื่อว่าคนที่มีหน้าที่ตัดสินใจจะไม่กล้าแสดงความเห็นแบบเดิม ถ้าทุกอย่างถูกเปิดเผย อย่างน้อยก็อาจปลุกสำนึกบางอย่างให้เกิดขึ้นได้บ้าง ซักนิดก็ยังดี
หมายเหตุ:
ธีระชาติ ก่อตระกูล เป็นผู้แชร์รายชื่ออนุไอทีครับ เผื่อใครจะขู่ฟ้องว่าผมเอารายชื่อมาเปิดอีก ว่าใครมีส่วนในการตัดสินใจยังไงกันบ้าง
