
บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) มีอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นเรือธง คือ ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ปัจจุบันมีโครงการในประเทศ 24 โครงการ กำลังการผลิตรวม 154 เมกะวัตต์ โครงการในต่างประเทศ 4 โครงการกำลังการผลิตรวม 243.29 เมกะวัตต์
ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 62 มีกำไรสุทธิ 661.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,428 % จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14.62 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 3,004.33 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.75%
โครงสร้างรายได้มาจากรายได้จากการขายเท่ากับ 679.15 ล้านบาท รายได้จากการขายไฟฟ้าและส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 1,913.50 ล้านบาท รายได้จากการรับเหมาก่อสร้างและให้บริการ 373.40 ล้านบาท
“กันกุล” กำลังขยายการลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าไม่ต่างกับผู้ประกอบการรายอื่นที่เห็นโอกาสของธุรกิจนี้ว่าเป็นการสร้างฐานการเติบโตของธุรกิจที่สร้างความมั่นคงและสร้างรายได้ในระยะยาว
"สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย" กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ให้ข้อมูลกับนักลงทุนว่า บริษัทฯ เตรียมปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) และโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศเวียดนาม รวม 240 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และโครงการที่จะเข้าลงทุนปีละประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี ซึ่งจะมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท
ถามว่าลงทุนมากขนาดนี้ เงินมาจากไหน..
กรรมการผู้จัดการ “กันกุล” ยืนยันว่า มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้ลงทุน เพราะในแต่ละปีจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (อีบิตดา) เข้ามาปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถกู้เงินเพื่อมาพัฒนาโครงการได้ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (ดี/อี เรโช) ที่ระดับ 2.26 เท่า แต่ยังมีช่องให้กู้ได้อีก 0.7 เท่า หรือคิดเป็นวงเงิน 6,000-7,000 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการ ”กันกุล” คาดว่าต้นเดือน ต.ค.นี้ จะสามารถปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม ขนาดกำลังผลิตรวม 240 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 60 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,800 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่ง มีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และ 120 เมกะวัตต์ โดยกันกุล จะเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 60-70%
นอกจากนี้ ยังสนใจลงทุนในไต้หวัน โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อเตรียมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตไม่เกิน 20 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมแบบนอกชายฝั่ง ขนาดกำลังผลิตประมาณ 100-300 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปไตรมาสที่ 1 ปี 2563 โดยขณะนี้กำลังดำเนินการขอใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า
สำหรับเป้าหมายรายได้ปี 2563 คาดว่า จะทำได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2562 นี้มั่นใจว่า จะมีรายได้รวม 8,000 ล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้ของธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
