
เผยวงการโทรคมนาคมสุดน้อยใจรัฐเลือกปฏิบัติ ถลุงเป็นแสนล้านประเคนเอกชน แต่กับ 4-5 จีไล่บี้ค่าต๋ง แนะรัฐบาลสังคายนานโยบายลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หลังมุ่งแต่ถลุงงบประมาณอุดหนุนกลุ่มทุนเป็นหมื่น เป็นแสนล้าน ขณะที่กิจการสื่อสารโทรคมนาคมกลับถูกลอยแพ แค่จะขอยืดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ยังถูกถล่มจนแทบเสียศูนย์ ทั้งที่เป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
หลังจาก “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ออกมาแถลงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศที่ทำการสำรวจภาคธุรกิจทั่วประเทศล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2562 ที่อยู่ในระดับ 46.5 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ในระดับ 46.7 อันเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 12 เดือน
โดยพบว่า ค่าดัชนีในทุกภาค ทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้า การจ้างงาน และเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยลบมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงและคู่ค้าต่างๆ ของไทย
แม้ล่าสุดกระทรวงการคลังจะงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหญ่ 3.2 แสนล้านบาท ที่กอปรไปด้วย 4 มาตรการหลักในการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ทั้งการจ่ายเงินโบนัสพิเศษให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 500 บาท การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่เสียงสะท้อนที่ได้กลับยังคงไม่มีทีท่าว่าจะทำให้เศรษฐกิจกระเพื่อมขึ้นมาได้
ขณะที่ความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภคตะวันออก (อีอีซี) ก็เต็มไปด้วยปัญหาถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการประกาศเขตอุตสาหกรรมและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่รุกล้ำทำลายแหล่งเพาะพันธ์ลูกกุ้งและปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ขณะที่โครงการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการรัฐ ทั้งการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 การประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้าน ที่มีการฟ้องร้องกันนัวเนียหลังบริษัทธนโฮลดิ้งในเครือ ซี.พี.ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมประมูล
รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลขีดเส้นให้การรถไฟฯ และบริษัทซีพี โฮลดิ้ง และพันธมิตร ผู้ชนะประมูล จะต้องลงนามในสัญญากันภายในเดือนกันยายนศกนี้ ก็ส่อจะเต็มไปด้วยปัญหา เนื่องจากร่างสัญญาที่การรถไฟฯและคณะทำงานจัดทำขึ้นมีรายละเอียดเป็นจำนวนมากที่ส่อจะทำให้รัฐเสียเปรียบ จนถึงขั้นที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งข้อสังเกตว่า อาจทำให้การรถไฟฯต้องเผชิญค่าโง่แบบกรณีโครงการโฮปเวลล์ ในอนาคตเอาได้
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่าหากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาแนวนโยบายแห่งรัฐในการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ตามนโยบาย “พีพีพี” โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขตอีอีซีนั้น จะเห็นได้ว่าเกือบทุกโครงการนั้นรัฐบาลจะประเคนเม็ดเงินภาษีเข้าไปร่วมลงทุนกับเอกชน และใช้เกณฑ์ชี้ขาดบนข้อเสนอการขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐต่ำสุดเป็นเกณฑ์
อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่กลุ่มซีพีโฮลดิ้ง และพันธมิตรเป็นผู้ชนะประมูลนั้น “ก็ขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐระหว่างก่อสร้าง 5 ปีถึง 140,000 ล้านบาทไม่รวมมูลค่าที่ดินอีกเกือบ 3,800 ไร่ที่เอกชนจะได้สิทธิ์พัฒนาในระยะ 50 -99 ปี”
แต่ในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ที่ถูกกำหนดเอาไว้ใน มาตรา 7 (7) แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 นั้น กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า “ภาครัฐกลับไม่เคยกำหนดเงื่อนไขที่จะสนับสนุนทาวงการเงินในลักษณะเดียวกันให้แม้แต่น้อย”
ทั้งที่หากพิจารณาในแง่ของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว “การลงทุนด้านสื่อสารโทรคมนาคมนั้นก็มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจไม่แตกต่างไปจากการก่อสร้างถนนหนทาง ระบบรางจะรถไฟ รถไฟฟ้าล้วนเป็นไปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” และน่าจะมีส่วนในการยกระดับการพัฒนาศักยภาพของผู้คนได้มากกว่าเสียด้วยซ้ำ
แต่เมื่อหันไปดูนโยบายของรัฐที่มีต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะเห็นถึงความแตกต่างได้ชัดเจน เพราะรัฐบาลและกระทรวงการคลังนั้น พร้อมจะทุ่มเทงบประมาณ และภาษีหรือเงินกู้ยืมเพื่อไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
รวมทั้งจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัทเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนเป็นหมื่นล้าน แสนล้านบาท แต่กับกิจการสื่อสารโทรคมนาคมภายใต้การกำกับดูแล ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัล หรือดีอี แล้วกลับตรงข้าม สิ่งเหล่านี้กลับไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ
“แค่การ กสทช. ขอยืดเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 4 จี ออกไป 5-10 ปีก่อนหน้านี้ ยังถูกนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนดาหน้าออกมาคัดง้างกันหูดับตับไหม้ ราวกับว่าเป็นการปล้นชาติเอื้อกลุ่มทุนสื่อสาร แต่กับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ต้องถลุงใช้เม็ดเงินภาษีเข้าไปอุดหนุนกลุ่มทุนเอกชนกันเป็นหมื่นล้านแสนล้านนั้น กลับไม่มีนักวิชาการหรือหน่วยงานใดขัดขวางหรือตั้งข้อกังขาว่าเป็นการเอื้อกลุ่มทุนแม้แต่น้อย”