ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (15 ม.ค.63) ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม 11 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกอบไปด้วย บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท เคเบิลคอนเนค จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด , บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด ได้ทำพิธีลงนามสัญญาบันทึกความร่วมมือการใช้ท่อร้อยสารสื่อสารใต้ดินของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันในการจัดระเบียบสายสื่อสายลงใต้ดิน ภายใต้การใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เพื่อสนองตอบนโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารของภาครัฐ ในการนำสายสื่อสารลงดินตามโครงการต่างๆ อาทิ โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการมหานครแห่งอาเซียน โครงการ Smart City เป็นต้น
โดย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบบริการโทรคมนาคมรายสำคัญของประเทศ ที่ไม่เพียงสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าลดการลงทุนซ้ำซ้อน (Digital Infrastructure Sharing) ยังเป็นการจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมให้มีทัศนียภาพที่สวยงามและปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ ทีโอที ในฐานะผู้ให้บริการท่อร้อยสายมีความภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการทั้ง 11 ราย โดยขอให้ความมั่นใจว่า ทีโอที จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาปรับปรุงท่อร้อยสายใต้ดินให้ทันสมัย และเพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้งานของทุกหน่วยงาน ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อสังคม
สมาคมโทรคมนาคมฯ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้ง 11 ราย เปิดเผยว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกรายมีความประสงค์ที่จะร่วมกันเช่าท่อร้อยสายของ บมจ.ทีโอที ทั้งใน กทม.และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยอัตราค่าใช้บริการท่อร้อยสายใต้ดินที่ บมจ.ทีโอที กำหนดเอาไว้อยู่ที่ 9,650 บาท ต่อ 1 Sub duct ต่อกิโลเมตรต่อเดือน (1 Sub Duct เท่ากับ 3-4 Micro Duct) เป็นอัตรามาตรฐานทั่วประเทศ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด ซึ่งทาง บมจ.ทีโอที ก็พร้อมยินดีนำปริมาณการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่มีการใช้อยู่เดิมและที่ใช้ใหม่ รวมถึงระยะเวลาการใช้งานของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม มาพิจารณาส่วนลด (Volume Discount) จากอัตรามาตรฐานทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้และไม่เป็นภาระต่อประชาชน
ทั้งนี้ การลงนามสัญญาครั้งนี้ ก็เพื่อการจัดระเบียบสายสื่อสารให้บ้านเมืองมีความสวยงาม ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนในการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของรัฐ และใช้ทรัพย์สินของรัฐที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนได้รับประโยชน์และใช้บริการโทรคมนาคมที่ทันสมัย และไม่ก่อให้เกิดภาระต่อการใช้งานของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที จึงตกลงทำบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ร่วมกัน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เคยมีความพยายามที่จะให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมทุกราย ต้องเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่กรุงเทพฯมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม(KT) วิสาหกิจของ กทม.เป็นผู้ลงทุน และให้สัมปทานบริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต รับสัมปทานทำการตลาดวงเงินลงทุนรวมกว่า 25,000 ล้านบาท แต่บรรดาบริษัทสื่อสารผู้ใช้บริการไม่เห็นด้วยเพราะเกรงจะเป็นการผูกขาด จึงพากันร้องขอให้ กสทช.เข้ามาตรวจสอบ ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะยกเลิกโครงการดังกล่าวไป