ที่สุดการบินไทยก็ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และต้องจัดทำแผนฟิ้นฟูตาม พรบ.ล้มละลาย เปิดทางเจ้าหนี้ร่วมจัดทำแผนฟื้นฟู ด้านคลังเตรียมขายหุ้นในมือออกพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 มีมติเห็นชอบให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตาม พระราชบัญญัติ ล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพราะหายนะจากโควิดทำให้เงินทองกำลังหายไป รัฐจำเป็นต้องรักษาเงินตราของประเทศไทยเอาไว้ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งพี่น้องเกษตรกรที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ผู้ประกอบการ SMEs คนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประชาชนทั่วไป"รัฐบาลต้องมองอย่างรอบคอบในทุกมิติ วันนี้ถึงแม้เราจะควบคุมมิติด้านการดูแลสุขภาพได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว เปรียบเทียบกับหลายประเทศแล้ว ปัญหาโควิดคงยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะปัญหาที่หนักหาหนทางปฏิบัติคือการแก้ไขเรื่องการทำมาหากิน หารายได้เลี้ยงปากท้องประชาชน ที่ทุกคนในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แล้วยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะกลับมาทำมาหากินสร้างรายได้เหมือนปกติเหมือนอย่างเคย" พลเอกประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจนำการบินไทยเข้า พรบ.ล้มละลาย เพื่อฟื้นฟู โดยไม่ปล่อยการบินไทยต้องเข้าสู่สถานะล้มละลาย ซึ่งอาจจะทำให้พนักงานมากกว่า 20,000 คน ต้องถูกลอยแพ เพราะฉะนั้นรัฐบาลยืนยันจะสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมต่อไปได้ จึงขออนุญาตการบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้ “การคุ้มครองของศาล” แล้วเข้าสู่การฟื้นฟูภายใต้การกำกับของศาล ซึ่งศาลก็จะพิจารณาแต่งตั้ง “มืออาชีพ” เข้ามาฟื้นฟู "ผมเองและพี่น้องประชาชน ก็คงคาดหวังเช่นเดียวกัน เมื่อมีมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการแล้ว “การบินไทย” จะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่เคยสร้างความภาคภูมิใจ และกลับมาเป็นองค์กรที่สร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย ได้ วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการเดียว ที่จะทำให้ “การบินไทย” นั้นยังคงสามารถดำเนินกิจการต่อได้ พนักงานการบินไทยก็จะมีงานทำต่อไป ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างการบินไทย ในหลายอย่าง ที่ควรทำสำเร็จมานานแล้ว ก็จะเกิดขึ้นได้ด้วย"ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตาม พรบ. ล้มละลายฟื้นฟูกิจการดังกล่าว โดยในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น จะมีการขายหุ้นใหญ่ที่ถืออยู่ในมือ 51% ออกไปราว 3% เหลือ 48% เพื่อให้การบินไทยพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ มันจะทำให้สามารถบริหารได้อย่างคล่องตัว และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องกฎระเบียบควบคุมของภาครัฐ