
ประเด็นร้อน เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับยอดขาดดุลที่เพิ่มขึ้นในปีงบฯ 63 และปีงบฯ 64 หลังรัฐบาลจัดเก็บรายได้และภาษีต่ำกว่าเป้า คงต้องหันไปปรับเพิ่มวงเงินกู้...ทำให้หนี้สาธารณะของไทย อาจทะลุร้อยละ 60 ของจีดีพี ประเมินกันว่า...หากรัฐบาลจำต้องปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรทอนคืนคนไทยในสัดส่วนเดียวกัน
การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม เฟส 3 ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะประกาศให้เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
หลายคนไม่มั่นใจนักว่า...กิจกรรมและกิจการต่างๆ ที่ได้รับผลพวงจากการผ่อนคลายในครั้งนี้ จะกลับมาฟื้นคืนชีพได้หรือไม่? แค่ไหน?
ในเมื่อตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น ความหยุดนิ่งแบบฉบับพลัน! เพราะคำสั่งที่มาจากมาตรการและนโยบายของภาครัฐ ได้ทำให้กิจกรรมและกิจการต่างๆ ค่อยๆ ล่มสลาย
ลำพังทุนใหญ่ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากมาตรการ/นโยบายของรัฐ แต่เพราะสายป่านที่ยาวกว่า และสายสัมพันธ์อันดี ทั้งกับคนใน “อำนาจรัฐ” และผู้บริหารของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ประกอบกับมาตรการเยียวยาฯ ที่กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทยอยประกาศออกมา...
ล้วนเป็นประโยชน์ สร้างโอกาส และต่อลมหายใจ ให้กับผู้ประกอบขนาดใหญ่ แต่กับผู้ประกอบการขนาดกลางลงมา จนถึงระดับเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการขนาดย่อม ต่างก็ “ต่อไม่ติด” กับทั้งมาตรการ/โครงการใดๆ จากภาครัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ขณะเดียวกัน “อำนาจซื้อ” ของภาคประชาชน ที่มากกว่าร้อยละ 95 เป็นคนจนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ก็ได้รับผลกระทบทางตรงจากทั้งปัญหาของไวรัสโควิด-19 และจากมาตรการ/นโยบายของรัฐเต็มๆ
ลำพังเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เมษายนถึงมิถุนายน 2563) ที่บางคนได้รับ (15 ล้านคน) แต่อีกหลายคน (กว่า 10 ล้านคน) ไม่ได้นั้น นอกจากจะมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในยามภาวะปกติแล้ว เม็ดเงินเหล่านี้...หมดไปก่อนหน้าที่ ศบค. จะประกาศผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม เฟส 3 ด้วยซ้ำไป
นั่นหมายความว่า...คนไทยกว่าร้อยละ 95 ของประชากรเกือบ 70 ล้านคน ไม่เหลือเงิน หรือเหลือไม่มากนัก เพียงพอจะนำไปจับจ่ายใช้สอย ผ่านร้านค้าในกิจกรรมและกิจการต่างๆ ได้
ผู้ประกอบขนาดกลางลงล่าง...เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน หรืออาจเข้าถึงแต่คงต้องพ่วงเงื่อนไขต่างๆ มากมาย จนอาจไม่ทันกาลที่จะพลิกฟื้นให้กิจกรรม/กิจการของตน...กลับมาได้ใหม่ ขณะที่ “อำนาจซื้อ” ของภาคประชาชน โดยเฉพาะคนจน ก็แทบไม่เหลือมากพอจะนำไปเจือจานธุรกิจเหล่านี้ได้
ไม่แน่ว่า...การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม เฟส 3 หรือต่อให้เป็นการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม เฟส 4 ที่เริ่มมีกระแสข่าวทำนองว่า “หากในอีก 2 เดือนข้างหน้า ตัวเลขผู้ติดเชื้อฯ ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้วล่ะก็ โอกาสจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม เฟส 4 โดยเฉพาะการยกเลิกเคอร์ฟิว และการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเกิดขึ้น!ตามมา” สิ่งนี้...ก็ไม่อาจจะพลิกฟื้น “เศษซากธุรกิจภาคเอกชน” ใดๆ ได้อีกแล้ว
การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในครั้งนี้ อาจยากกว่าทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
นั่นเพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ได้ส่งผลสะเทือนและสร้างความรุนแรงอันมหาศาล ทั้งต่อระบบสาธารณสุข ต่อวิถีและชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ ต่อระบบเศรษฐกิจและธุรกิจทุกระดับ และที่สำคัญ มันเกิดขึ้นกับทุกประเทศ และทุกทวีปบนโลกใบนี้...ไปพร้อมๆ กัน
ทำให้ “อำนาจซื้อ” ของประชาชนในหลายๆ ประเทศ “ตกต่ำ” อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติสมัยใหม่

ขณะที่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศ ก็ขาดซึ่งงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อกอบกู้ระบบเศรษฐกิจของตัวเอง ซึ่งนั่น...รวมถึงรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วย
การใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปก่อน แล้วค่อยแจ้งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รับทราบ! แม้จะมีการโหวตลงมติ “ผ่าน/ไม่ผ่าน” กฎหมายเงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ แต่ที่สุด! อำนาจเสียงข้างมากในสภาฯ และแรงกดดันจากปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน สุดท้าย...สภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ ก็คงต้องจำใจผ่านกฎหมายกู้เงินทั้ง 3 ฉบับกันไป
ไม่ว่าการใช้จ่ายเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท ทั้งในส่วนของก้อนเงิน 6 แสนล้านบาท เพื่อการเยียวยาและการสาธารณสุข ที่แจกจ่ายล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว และก้อนเงินอีก 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมจะนำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ต่อภาคธุรกิจ ต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย มากน้อยแค่ไหน?
แต่คนไทยได้โปรดรู้เอาไว้ด้วยว่า...ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทย หลังจากรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังกู้ยืมเงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทมาแล้วนั้น หนี้สาธารณะตัวนี้...ขยับทะลุไปกว่าร้อยละ 57 ของจีดีพีไปแล้ว
ถอดความได้ว่า...จีดีพีของไทยในปัจจุบัน หากเทียบออกมาเป็นเม็ดเงินแล้ว น่าจะอยู่ราวๆ 17-18 ล้านล้านบาท เมื่อหนี้สาธารณะสูงถึงระดับร้อยละ 57 ของจีดีพี นั่นก็หมายความว่า...ประเทศไทยมีหนี้สินรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 9.7-10.2 ล้านล้านบาท
แต่นั้น ยังไม่ใช่เพดาสูงสุด ตามที่กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ ให้รัฐบาลสามารถก่อหนี้สาธารณะได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี
ซึ่งหากใครได้ฟังคำแถลงของ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในสังกัดกระทรวงการคลัง ที่ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้...หัวใจคงไม่อยู่กับตัวเป็นแน่!
เธอบอกว่า...ในภาวะปกติ จีดีพีของไทย เพิ่มขึ้นทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง...ก็ต้องเพิ่ม ซึ่งนั่นทำให้วงเงินกู้และเพดานหนี้สาธารณะของไทย ก็ต้องขยับเพิ่มตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีความจำเป็น จะเพราะสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือจากภาวะสงคราม หรือภัยธรรมชาติ เกินกว่าจะเตรียมการรับมือได้ทัน ก็สามารถจะขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ จากร้อยละ 60 เป็นมากกว่านั้นได้บ้าง ขึ้นกับเหตุผลและความจำเป็นในเวลาและสถานการณ์นั้นๆ
พูดให้เข้าใจง่าย...หากรัฐบาล มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย หมายถึง...จัดเก็บรายได้ภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ ขณะที่รายจ่าย ทั้งที่เป็น...รายจ่ายประจำ (ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการ) และงบประมาณเพื่อการลงทุน ที่ไม่อาจตัดทิ้งไปได้แล้ว
รัฐบาลก็สามารถจะขอขยายเพดานเงินกู้สาธารณะ จากเดิมร้อยละ 60 เป็นมากกว่านั้นได้

ข้อเท็จจริง! ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงสำคัญๆ อย่าง...กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน รวมถึง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดเก็บรายได้ภาษี ซึ่งเป็นเงินส่วนใหญ่ที่จะนำมาใช้เพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯในทุกๆ ปี
ทุกคนต่างยอมรับว่า...การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 ที่กำหนดให้กรมสรรพากร รวมถึงกรมภาษีอื่นๆ และหน่วยงานต่างสังกัดที่มีบทบาทจัดหารายได้คล้ายๆ กัน ต่างก็ประสบปัญหาเหมือนกัน นั่นคือ...ไม่อาจจัดเก็บภาษีหรือรายได้ส่งเข้ารัฐ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลได้ตั้งวงเงินรายจ่ายเอาไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ขณะที่การจัดเก็บรายได้มีเพียง 2,73 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท แต่คาดว่าการจัดเก็บรายได้จริงนั้น คงมีรวมกัน...เกิน 2 ล้านล้านบาทไม่มากนัก หรืออาจจะต่ำกว่าด้วยซ้ำไป
นั่นก็หมายความว่า...ยอดขาดดุลจะไม่ใช่ 4.69 แสนล้านบาท เพราะตัวเลขการขาดดุลที่แท้จริง อาจ “งอกเพิ่ม” ขึ้นมาอีกไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท
ขณะที่แผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่า...ตัวเลขคงไม่ต่ำกว่า 3.3 ล้านล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่า...จะเป็นจริง หรือมีการปรับลดลงมา ซึ่งความเป็นจริง...คงมีแต่จะปรับเพิ่มขึ้น หรืออย่างเก่งก็เท่ากับที่เคยประมาณการเดิมที่เคยตั้งกันเอาไว้
แต่นั่น จะทำให้เกิดการขาดดุลในปีงบประมาณ 2564 ไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท โดยอาศัย “ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19” เป็นข้ออ้าง และสิ่งนี้....จะทำให้การก่อหนี้สาธารณของไทย เพิ่มถึงร้อยละ 60 หรืออาจจะทะลุร้อยละ 60 ของจีดีพี อย่างไม่ต้องถามหาใบเสร็จที่ไหน?
ถึงตอนนั้น...คนไทยทุกคน ที่ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหน? ประกอบอาชีพอะไร? มีรายได้ระดับใด? เคยได้รับเงินเยียวยาและใช้ประโยชน์จากมาตรการทางการเงินและการคลังของภาครัฐหรือไม่? และอย่างไร? แต่ทุกคน...ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ และทุกชนชั้น ต่างต้องทน ”แบกรับหนี้ก้อนโต” นี้ไปด้วยกัน
แม้จะไม่ต้องควักเงินส่วนตัว เพื่อนำไป “ลงขัน” ให้รัฐบาลนำไปชำระหนี้ แต่คนไทยจะถูกเรียกเก็บหนี้คืนทางอ้อม ผ่าน...กลไกและระบบภาษี ค่าธรรมเนียม และสารพัดค่าต่างๆ ที่จะมีตามมาในวันข้างหน้า
หมดโปรโมชั่น “ลดแลกแจกแถม” จากรัฐบาลเมื่อไหร่? เชื่อขนมกินได้ว่า...กลไกและระบบภาษี ค่าธรรมเนียม ฯลฯ เหล่านั้น จะทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มรูปแบบ..
กล่าวคือ...สร้างปรากฏการณ์ “รีดเลือดจากปู” กับทุกชีวิตในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ
ยังไงเสีย...หากรัฐบาล และกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จำเป็นจะต้องประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิมร้อยละ 7 เป็นมากกว่านั้น ก็ควรจะทอนคืนให้กับประชาชนคนไทย ที่ถือบัตรประชาชนไทยทุกคน ในระดับเดียวกับที่ประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็แล้วกัน
กินเนื้อๆ เฉพาะ “คนต่างด้าว ท้าวต่างแดน” ที่เข้ามาหากิน ท่องเที่ยว และเพื่อการใดๆ ก็ตาม เท่านั้น...ก็คงเพียงพอแล้ว
อย่าได้ซ้ำเติมคนไทยให้มากไปกว่านี้อีกเลย!!!