ความพยายามของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ในอันที่จะรื้อฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ด้วยการร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดรือฟื้นคดีดังกล่าวโดยอ้างว่าบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้งของฮ่องกงจดทะเบียนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการเปลี่ยนบริษัทผู้รับสัมปทาน แต่ล่าสุดความพยายามดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำร้อง
โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ค.63 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ไม่รับคำฟ้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ขอให้รื้อคดีที่อนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯต้องคืนค่าตอบแทน ที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระและชดใช้เงินในการก่อสร้างโครงการพร้อมดอกเบี้ยราว 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับบริษัท
โฮปเวลล์ฯ
โดยคดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 หมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ที่ให้ผู้ร้องทั้งสองคืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้คัดค้านโดยมีมูลหนี้เงินต้น 11,800 พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันชี้ขาด หรือรวมกว่า 24,000 ล้านบาท แต่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ผู้ร้องทั้งสองได้มีคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่
โดยอ้างว่า ศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นที่ผู้ร้องทั้งสองโต้แย้งเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้สิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ การเลิกกันของสัญญาพิพาท และการกลับคืนสู่ฐานะเดิมของผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิพากษาคดีและผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และที่ผู้ร้องทั้งสองโต้แย้งเรื่องความสามารถของผู้คัดค้านในขณะเข้าทำสัญญานั้น เป็นประเด็นที่ผู้ร้องมิเคยโต้แย้งมาก่อนทั้งในศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณา จึงถือมิได้ว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้ว
และประการสุดท้าย การที่ผู้ร้องอ้างว่า มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 143/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน “กรณีโฮปเวลล์” ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวผู้ร้องก็มิได้แสดงต่อศาลแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ผู้ร้องทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องในที่สุด