เลขาธิการ คปภ. ลงพื้นที่ “ตรวจเยี่ยม-มอบนโยบาย” บุคลากรสำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) พร้อมสั่งปรับวิธีการทำงานใหม่ในวิถี New Normal เน้นการคุ้มครองสิทธิด้านการประกันภัยให้ประชาชน ย้ำ! ให้เร่งจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ เพื่อใช้ระบบประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ.จากส่วนกลาง ตรวจเยี่ยมสำนักงาน คปภ. จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวอิสรี เกตุกล่ำ ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดราชบุรี รายงานผลการปฏิบัติงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้มอบนโยบายการทำงานเชิงรุกเน้นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัย ขยายเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งชมรมประกันภัยต่างๆ ในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน
จากการรายงานสภาพปัญหาในพื้นที่ พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถไฟบริเวณที่เป็นจุดตัดทางรถไฟกับทางรถยนต์อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งจังหวัดราชบุรี มีเรือรับ-ส่ง นักท่องเที่ยวในตลาดน้ำดำเนินสะดวก จำนวน 500-600 ลำ และมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงได้กำหนดแนวทางการรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันภัยกับผู้ประกอบการเรือโดยเร่งด่วน
ดร.สุทธิพล ยังได้มอบหมายให้สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค บูรณาการทำงานร่วมกับสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย จัดทำคู่มือและแบบฟอร์มการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวกับ พืช สินค้า ปศุสัตว์ ประจำท้องถิ่น โดยให้เร่งจัดทำแบบฟอร์มฯ ดังกล่าว เพื่อให้สำนักงาน คปภ. จังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลสภาพปัญหาเชิงลึก ตลอดจนข้อมูลความเสี่ยงและการประเมินความต้องการด้านประกันภัยเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยให้ตรงกับความต้องการในพื้นที่ อาทิ ข้อมูลผลิตภัณฑ์เซรามิคเครื่องปั้นดินเผา ข้อมูลผลิตภัณฑ์โอ่งราชบุรี ข้อมูลสุกร ข้อมูลพืชผลประจำท้องถิ่น เช่น สับปะรด มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น
จากนั้น เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คปภ.จากส่วนกลาง ได้เดินทางตรวจเยี่ยมสำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครปฐม โดยมีนางจันทิมา มีโส ผู้อำนวยการภาค สำนักงาน คปภ.ภาค 7 (นครปฐม) และนางสาววราภรณ์ ยี่รงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.จังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับและรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. ทั้ง 9 จังหวัดที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล โดยในภาพรวมของการปฏิบัติงานในช่วงครึ่งปีแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในโอกาสนี้ ได้มอบนโยบายในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การใช้สอยพื้นที่อาคารสำนักงานให้เต็มประสิทธิภาพ การขยายพื้นที่ห้องสอบเพื่อรองรับการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนนายหน้าประกันภัยในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง การบริหารจัดการครุภัณฑ์ที่ชำรุดและเสื่อมสภาพไม่ได้ใช้งานเพื่อไม่ให้เป็นภาระในการจัดเก็บ ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้สำนักงาน คปภ. ภาค เป็นแกนหลักในการส่งต่อข้อมูลให้กับจังหวัดภายใต้การกำกับดูแล ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การทำประกันภัยบริเวณชายแดนของจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ที่มีรอยต่อติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ควรมีรูปแบบการขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการนำระบบประกันภัยไปสู่ประชาชนที่อยู่บริเวณชายขอบของประเทศไทย รวมทั้งสำนักงาน คปภ.ภาค ต้องติดตามโครงการการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยพืชผล สินค้า ปศุสัตว์ ประจำท้องถิ่น หรือโครงการ 1 จังหวัด 1 กรมธรรม์ให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนด้วย
ในส่วนของสำนักงาน คปภ.จังหวัด ก็สามารถที่จะนำกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ก่อนแล้วมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตนเอง เช่น จังหวัดนครปฐม ต้องการทำประกันภัยรถรางในวัดไร่ขิง ก็สามารถใช้โมเดลเดียวกับการทำประกันภัยรถรางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือ จังหวัดใดมีความต้องการจัดทำประกันภัยโคนม โคเนื้อ ก็สามารถใช้โมเดลเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยโคนม โคเนื้อ ที่จังหวัดสระบุรี หรือต้องการจัดทำประกันภัยไข้เลือดออกก็สามารถใช้โมเดลเดียวกับกรมธรรม์ไข้เลือดออกที่จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
รวมถึงการติดตามการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคารและการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขและแนวปฏิบัติของประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการดำเนินการของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัยและธนาคาร (ฉบับใหม่) ซึ่งคณะกรรมการ คปภ. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอให้ท่านปลัดกระทรวงการคลังลงนามให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกติกาที่สำนักงาน คปภ. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดปัญหาร้องเรียนตามมาในภายหลัง
ดร.สุทธิพล ย้ำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และทำให้พฤติกรรมของผู้คนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายมิติ ทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความสนใจด้านการประกันภัยของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการซื้อประกันภัยผ่านระบบออนไลน์ และการให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ในยุคโควิด-19 เช่น การประกันภัยโควิด-19 การประกันภัยสุขภาพ การประกันภัยโรคร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิด New Normal ในการทำงาน หรือ ที่เรียกว่า ความปกติใหม่ในการทำงาน
“ในโอกาสนี้ ผมจึงขอให้ทุกคนใช้ช่วงเวลานี้ในการสร้างเป้าหมายการทำงานใหม่ พัฒนาตนเองให้พร้อมรับกับความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่เสมอ เปิดใจพร้อมเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง โดยสำนักงาน คปภ.ภาค ต้องทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสำนักงาน คปภ.จังหวัด และปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ New Normal โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ทั้งด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การใช้ Social Media เป็นสื่อกลางในการติดตามข่าวสาร รวมถึงการใช้ระบบออนไลน์เป็นช่องทางในการศึกษาและเรียนรู้ อาทิ ระบบ Microsoft Teams ระบบการประชุมทางจอภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ ต้องบูรณาการการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภายใต้มาตรการ “การ์ดไม่ตก” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ปะชาชน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงช่องทางการเรียนรู้ด้านการประกันภัยผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น กูรูประกันภัย รอบรู้ประกันภัย กูรูประกันข้าว E-claim เว็ปไซต์ของสำนักงาน คปภ. เป็นต้น ตลอดจนให้ความสำคัญกับการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานให้ถูกต้องตรงจุด รวมทั้งต้องบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนด้านประกันภัยอย่างเป็นธรรม รอบคอบและรัดกุมเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวสรุป