เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 นาย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ในหัวข้อ”“ปรับครม.เพื่อประชาชน?”” ใน Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
โดยระบุว่า..ข่าวการปรับ ครม. มีนายปรีดี ดาวฉาย อดีตประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย จะเป็น รมว.คลัง
ประชาชนที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจหนักจากโควิด สนใจว่า ท่านจะประกาศแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร แต่มีโจทย์ที่สำคัญที่ค้างมาตั้งแต่ตำแหน่งเดิมของท่าน
ประชาชนทราบดีว่า ผู้ที่กู้เงินแบงค์นั้นเสียเปรียบแบงค์ 2 เรื่อง
หนึ่ง ส่วนต่างดอกเบี้ย
ประเทศไทยในอดีตเคยใช้อำนาจกฎหมายกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย เพื่อมิให้แบงค์ได้ส่วนต่างมากเกินไป แต่ภายหลังยกเลิก เหตุผลเพื่อให้ลูกค้าที่พร้อมจะจ่ายสูงกว่าเพดานยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้
อย่างไรก็ดี เนื่องจากไม่มีการเพิ่มคู่แข่งรายใหม่ ด้วยกลัววิกฤตแบงค์ล้ม ส่วนต่างดอกเบี้ยจึงยังสูง และทำให้แต่ละปี ระบบแบงค์กำไรหลายหมื่นล้านบาท และมีกำไรสะสมอยู่เป็นเงินมหาศาล จ่ายเงินปันผลได้สูง
สอง ภาระค้ำประกันส่วนตัว
ลูกหนี้รายกลางและรายเล็กที่กู้แบงค์ แม้ว่าโครงการผ่านการพิจารณาแล้ว แม้จะมีหลักประกันแล้ว แต่แบงค์ก็ยังกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องค้ำประกันส่วนตัวอีกชั้นหนึ่ง
ทำให้เมื่อใดที่ลูกหนี้ประสบปัญหาทางการเงิน ก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง
ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ไม่มีเงื่อนไขนี้ จึงทำให้แบงค์ในตะวันตกยอมลดหนี้ (haircut) ได้มากกว่าไทย ซึ่งเอื้ออำนวยให้ลูกหนี้สามารถตั้งตัวใหม่ได้เร็วขึ้น
ถ้ามี รมว.คลัง ที่เป็นอดีตนายแบงค์และอดีตประธานสมาคมธนาคารไทย เขาย่อมจะต้องทราบทั้ง 2 ปัญหาเป็นอย่างดี
ในทั้งสองฐานะที่ผ่านมา เขาอาจจะถือว่าไม่เป็นปัญหา เพราะทั้ง 2 เรื่องทำให้แบงค์มั่นคง ในระหว่างนั้น เขาอาจจะเห็นว่ากำไรระบบแบงค์ปีละหลายหมื่นล้านบาทเป็นประโยชน์โดยรวมแก่เศรษฐกิจ
แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง จำเป็นจะต้องถือประโยชน์ของประชาชนเป็นลำดับแรก ประโยชน์ของระบบแบงค์เป็นลำดับรอง ดังนั้น รมว.คลัง จึงจะต้องแก้ปัญหาเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยทันที โดยประกาศแนวทางให้ชัดแจ้งว่า จะทำอะไร เมื่อใด
นอกจากนี้ วิกฤตโควิดได้ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอ่อนแอ รายได้ของหลายรายลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่มีกำลังที่จะผ่อนชำระหนี้
ถ้าประเทศไทยได้ รมว.คลัง ที่เคยเป็นนายแบงค์นักกฎหมาย ก็ย่อมจะมีความเข้าใจในเรื่องปรับโครงสร้างหนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง ดังนั้น รมว.คลัง จึงจะต้องแก้ปัญหาลูกหนี้ฐานะอ่อนเหล่านี้ โดยบีบบังคับให้แบงค์ควักเอากำไรสะสม ส่วนต่างดอกเบี้ยที่เคยได้ไปในอดีต เอากลับคืนมาเพื่อลดหนี้ (haircut) อันจะเปิดช่องให้ลูกหนี้ปรับตัวแก้ไขสถานการณ์ได้ดีขึ้น โดยประกาศแนวทางให้ชัดแจ้งว่า จะทำอะไร เมื่อใด
แต่เรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน ก็คือ การขัดกันซึ่งผลประโยชน์
กรณีผู้ที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น กฎหมาย ป.ป.ช. กำหนดให้มีห้วงเวลา 2 ปีก่อนจะสามารถเข้าดำรงตำแหน่งที่บุคคลนั้นมีอำนาจกำกับควบคุมในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
แต่ไม่มีกติกาสำหรับผู้ที่พ้นจากตำแหน่งในภาคเอกชนเพื่อไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี วิญญูชนย่อมเห็นได้ว่า มีการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ เพราะรัฐมนตรีอาจจะยังมีผลประโยชน์ผูกพันกับองค์กรเดิม ไม่ว่าด้านสวัสดิการ รักษาพยาบาล หรือด้านบำเหน็จบำนาญ
ดังนั้น จึงขอแนะนำให้พลเอกประยุทธ์ระมัดระวังในเรื่องนี้
และยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน ซึ่งมีข่าวว่า จะแต่งตั้งบุคคลผู้มีผลประโยชน์กับบริษัทเอกชนที่ผูกขาดธุรกิจพลังงานบางอย่าง ซึ่งจะยิ่งกระทบความรู้สึกของประชาชนอย่างหนักอีกด้วย
ประชาชนจะจำได้ว่า ในปี 2558 ที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้เปลี่ยนวิธีการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ท่านเกษียณหนังสือถึง มล.ปนัดดา ดิสกุล ด้วยลายมือตนเอง (ดูรูป)
“ให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใส เป็นธรรม”
แต่ภายหลัง กระทรวงพลังงานก็มิได้จัดทำระบบที่มีเนื้อหาทางเศรษฐกิจเป็นการแบ่งปันผลผลิตอย่างแท้จริง กลับมีผลทำให้ประโยชน์ไปตกแก่บริษัทเอกชนมากกว่าประชาชน
พลเอกประยุทธ์ จึงจะต้องแสดงให้ชัดเจนว่า เป็นการปรับ ครม. เพื่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่?
หมายเหตุ (โดยนายธีระชัย) :
- การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ