
มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ท่ามกลางข่าวทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า โดยระบุว่า.. แปลกแต่จริง.. ปปง. “เคยมี” มาตรการที่ชี้เป้าได้เลยว่า ในแต่ละวันรัฐมนตรี อธิบดี ทหาร ตำรวจคนไหนมีเงินโอนเข้าออกบัญชีธนาคาร นำเงินไปลงทุน หรือซื้อขายทรัพย์สินราคาแพงอะไร ที่ไหนบ้าง แต่มันไม่เคยถูกใช้จริง จนกระทั่งถูกแอบยกเลิกไปในปี 2563
มาตรการนี้เรียกว่า “บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง” (Politically Exposed Persons - PEP) บังคับใช้กับคนที่เป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่ระดับสูง ศาล องค์กรอิสระ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย
เริ่มใช้ปี 2556 โดยกำหนดให้ธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจบางประเภท เช่น ที่ปรึกษาการลงทุน ร้านค้าทองคำ ฯลฯ ต้องตรวจสอบพฤติกรรมการเงินของบุคคลเหล่านี้ หากพบกรณีต้องสงสัย ให้รายงานต่อ ปปง. ทันที
ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นหลักฐานการเงิน (Digital Footprint) ที่ตรวจสอบย้อนหลังได้ ใช้สืบสาวเส้นทางของเงิน เป็นหลักฐานดำเนินคดีฟอกเงินและคดีอาญาได้
แน่นอนว่า เงินบาปจากส่วย สินบน ซื้อขายตำแหน่ง ค้าแป้ง ค้ามนุษย์ ฯลฯ แม้จะจ่ายกันเป็นเงินสด สุดท้ายก็ต้องนำเข้าบัญชีธนาคารก่อนโอนกระจายให้ผู้อื่นเป็นทอดๆ ไป จะเปลี่ยนเป็นเงินคริปโต ซื้อทองคำ หรือสุดท้ายเมื่อเปลี่ยนเงินคริปโตเป็นเงินสดก็ต้องเข้าบัญชีธนาคารอยู่ดี
น่าเสียดายที่มาตรการนี้ถูกใช้แค่พอเป็นพิธีเพื่ออวดอ้างกับนานาชาติว่าเรามีทุกอย่างตามมาตรฐานสากลแล้ว เพราะเมื่อถึงปี พ.ศ. 2563 ก็ “แอบยกเลิก” ไป ส่งผลให้ธนาคารไม่ต้องตรวจสอบ PEP ที่เป็นคนไทยอีกต่อไป คงไว้แต่การตรวจสอบ PEP ที่เป็นคนช่างชาติเท่านั้น
มีคำถามว่า “ทำไม.. ระหว่างปี 2556 – 2563 ที่มีใช้มาตรการนี้ก็ไม่เห็นจับใครได้?” เรื่องนี้มีผู้อธิบายว่า เพราะเป็นของใหม่และคนมีอำนาจจงใจปล่อยให้กฎหมายมีช่องโหว่มาจนถึงวันนี้ ด้วยการไม่กำหนดให้ชัดว่า บุคคลในตำแหน่งใดบ้างที่ต้องถูกตรวจสอบตามมาตรการนี้
ที่แย่กว่านั้นคือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างเกรงใจไม่กล้าตรวจสอบคนมีอำนาจในรัฐบาล ทำให้บุคคลอื่นที่มีตำแหน่งสูงๆ พากันได้ส่วนบุญไปด้วย.. เรื่องนี้ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรครับ
กระทั่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการป้องกันการฟอกเงินฯ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบ จึงได้รับคำตอบจาก ปปง. ว่ามีการ “ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2563 จริง โดย ปปง. พร้อมทำทุกอย่างให้กลับมาถูกต้องภายในกลางปี 2568 นี้” เพราะทุกอย่างได้ศึกษาเตรียมพร้อมแล้ว
ทางด้านธนาคารต่างก็พร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เพียงขอให้เทคโนโลยีราคาแพงที่เขาลงทุนไป ถูกรัฐใช้อย่างคุ้มค่า ปฏิบัติอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน
มั่นใจว่า “หากใช้มาตรการตรวจสอบพฤติกรรมการเงินของ ปปง. ควบคู่การตรวจสอบบัญชีบัญชีทรัพย์ฯ ของ ป.ป.ช. และการตรวจสอบการเสียภาษีรายได้ประจำปีของสรรพากร จะทำให้การตรวจจับคนโกงมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว” โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
หลักฐานที่โยงกันได้ขนาดนี้ต่อไปใครคิดจะหลอกประชาชน เป็นล้มมวยต้มคนดู ก็ยากแล้วครับ
ความทวงคืนความถูกต้องครั้งนี้ขอขอบคุณ คุณเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานกรรมาธิการฯ คุณสีหนาท ประยูรรัตน์ คุณญาดา กาศยปนันทน์ คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ที่กรุณาให้ข้อมูลเปี่ยมคุณค่า ตรงไปตรงมา ขอขอบคุณและชื่นชมคณะผู้แทน ปปง. ที่ให้ข้อมูลชัดเจน ตั้งใจและร่วมมือดีมากครับ
อ่านเพิ่มเติม:
- ต้องใช้ กม. ฟอกเงินอย่างเข้มข้นปิดทางหนี ‘ธุรกรรมสกปรก’ จากคอร์รัปชัน https://www.isranews.org/article/isranews-article/136638-Corruption-4.html
- รู้ได้อย่างไร ใครคือนอมินี https://www.isranews.org/article/isranews-article/136557-Nominee.html