กระทรวงดิจิทัลฯ เผยทุกแพลตฟอร์มโซเชียลลบข้อมูลผิดกฎหมายตามคำสั่งศาลแล้วชุดแรกแล้วครบ 1,276 ยูอาร์แอล และวันนี้ส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาล ไปยังสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ เพื่อระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายอีก 1,024 ยูอาร์แอล ย้ำไม่มีการเลือกปฏิบัติ เผยแนวโน้มเว็บ-โซเชียลผิดกฎหมายลดลง หลังเปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสผ่านเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์”
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในการแถลงข่าวการระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ วันนี้ (26 สิงหาคม 2563) ว่า กระทรวงฯ จะมีหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก จำนวน 1,024 รายการ (ยูอาร์แอล) ไปยังสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ต่างๆ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 661 รายการ, ยูทูบ 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บอื่นๆ จำนวน 5 รายการ โดยให้ความมั่นใจว่า มีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล กระทรวงฯ ไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา กระทรวงฯ มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ เป็นจำนวน 1,276 ยูอาร์แอล โดยจากการติดตามความคืบหน้าเมื่อครบกำหนด 15 วัน เมื่อวานนี้ (25 สิงหาคม 2563) พบว่าทุกรายรวมถึงเฟซบุ๊ก ยูทูบ และ TikTok ให้ความร่วมมือดำเนินการลบยูอาร์แอลผิดกฎหมายตามคำสั่งศาลครบทั้ง 100% โดยในจำนวนนี้เป็นรายการที่อยู่บนเฟซบุ๊ก จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล
“กระทรวงฯ ขอย้ำว่าการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีคำสั่งศาลอย่างถูกต้อง มิได้เป็นการข่มขู่ใดหรือกลั่นแกล้งอย่างใด” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ เพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเฟซบุ๊กสั่งปิดไปตามคำสั่งศาลตามกฎหมายประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว และยืนยันว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเด็นทางการเมือง แต่ในอีกหลายยูอาร์แอลที่มีคำสั่งศาลออกมา ยังครอบคลุมถึงด้านอื่นๆ ที่เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเข้าข่ายการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
“กระทรวงฯ ไม่ได้คิดเอง หรือจะไปรังแกใคร เราทำตามกฎหมายประเทศไทย ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป อธิปไตยของแต่ละประเทศไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่เขตแดนอีกต่อไป เราต้องพูดถึงอธิปไตยไซเบอร์ เพราะไซเบอร์มาเร็ว ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องให้กับประเทศไทย” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข้อวิตกกังวลจากบางกลุ่มว่า เฟซบุ๊ก อาจมีการฟ้องร้องไทยสำหรับกรณีการสั่งปิดกั้นเนื้อหาหรือเพจผิดกฎหมาย รวมทั้งอาจทำให้เฟซบุ๊ก ตัดสินใจยกเลิกการลงทุนในประเทศไทยนั้น โดยส่วนตัวมองในทางกลับกัน เนื่องจากการดำเนินการในเรื่องนี้ของประเทศไทย เป็นไปตามขั้นตอนและกฎหมายของประเทศไทย จดหมายแจ้งเตือนและขอความร่วมมือทุกฉบับที่ส่งไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อลบหรือปิดกั้นยูอาร์แอลผิดกฎหมาย จะมีการแนบคำสั่งศาลไปด้วย เพื่อเป็นข้อมูลและหลักฐานช่วยให้เจ้าของแพลตฟอร์มทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ถูกโจมตีว่าไปละเมิดสิทธิ์ผู้ใช้งาน อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความศักดิ์ของกฎหมายประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนของบริษัทต่างๆ ว่าจะได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” หลังเปิดตัวเป็นช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายว่า ตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าข้อความที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมาย เริ่มมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ สถิติระหว่างวันที่ 15-24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาจำนวน 2,931 รายการ (ยูอาร์แอล) ในจำนวนนี้ พบว่า เป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย จำนวน 1,891 รายการ โดยตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย จำนวน 680 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 434 รายการ ยูทูบ 63 รายการ ทวิตเตอร์ 50 รายการ และเว็บไซต์/อื่นๆ จำนวน 133 รายการ
หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ ศาลมีคำสั่งแล้วทั้งสิ้น จำนวน 354 รายการ (ยูอาร์แอล) และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 326 รายการ ขณะที่ คงเหลือข้อมูลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 360 รายการ
สำหรับตัวเลขรวมที่ได้รับการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน นับตั้งแต่วันเปิดตัวเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาทั้งสิ้น 5,943 รายการ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย 3,232 รายการ และตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 2,260 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้ว จำนวน 1,781 รายการ (เตรีนมส่ง จนท.ตร./เจ้าของแพลตฟอร์ม), อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 451 รายการ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า น่าชื่นชมที่ประชาชนตื่นตัวให้ความร่วมมือช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดจำนวนเนื้อหา/ข้อมูลที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมบนเครือข่ายโซเชียล/ออนไลน์ โดยมีข้อน่าสังเกตว่า แม้จะมีการแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังการตรวจสอบแล้ว พบว่าแนวโน้มของรายการที่เข้าข้อกฎหมาย และต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินการตามกฎหมาย การลบ หรือการสั่งปิด มีสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากหลายรายการเป็นการรับแจ้งเบาะแสที่ซ้ำซ้อนกัน หรือไม่เข้าข้อกฎหมาย ถือเป็นความสำเร็จของการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสาธารณะในการดูแลสังคมออนไลน์
ทั้งนี้ หากดูจากสถิติย้อนหลัง พบว่าช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ได้รับแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย จำนวน 1,050 รายการ (ยูอาร์แอล) ตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายซึ่งเป็นการดำเนินการกระทำความผิดตามกฎหมาย จำนวน 317 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของข้อมูลที่ได้รับแจ้ง
จากนั้นในวันที่ 7-17 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแส จำนวน 3,083 รายการ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย คือมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวนทั้งสิ้น 1,395 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของข้อมูลที่มีการแจ้งเบาะแส
“ขณะที่ สัปดาห์ล่าสุดมีข้อมูลที่ผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีรายการที่เข้าข่ายผิดกฎหมายไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะส่วนใหญ่เป็นรายการซ้ำซ้อน และไม่เข้าข่าย แสดงว่ามีประชาชนจำนวนมากตื่นตัวที่จะแจ้งเบาะแสมาที่เพจเรา (อาสา จับตา ออนไลน์) เมื่อพบเห็นสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ที่อาจผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม จึงพบรายการซ้ำซ้อนจำนวนมาก และสัดส่วนของเนื้อหา/เว็บที่ผิดกฎหมายก็ลดลง ทั้งนี้นับเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการสืบหา และเก็บหลักฐานการกระทำผิดในสื่อออนไลน์ โดยตั้งกฎเหล็กไว้ว่าการปิดกั้น จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง และปิดเว็บ ลบเนื้อหา หรือส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี รวมถึงให้มีการจัดนิติกรเวร เป็นผู้แจ้งความในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
“ประชาชนสามารถช่วยกันแจ้งข้อมูลเบาะแส ร้องเรียน รวมทั้งขอคำปรึกษาเมื่อพบเห็นเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายได้ที่เพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ทาง inbox m.me/DESMonitor จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง พิจารณาข้อมูลร้องเรียนตามข้อกฎหมายและตอบกลับโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์ กล่าว