ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของค่าไฟฟ้ากำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยอยู่ในเวลานี้!
…
ทั้งในเรื่องที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อโครงสร้างอัตราค่าไฟในงวดแรกของปีหน้า 2568 (ม.ค. - เม.ย. 68 ) ว่าจะลงเอยอย่างไร?
จะยังคงตรึงอัตราค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยต่อไป หรือขยับอัตราค่าไฟขึ้นไป 5.26 บาทต่อหน่วย เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ กฟผ.บางส่วน หรือปรับขึ้นไปสุดซอย 5.49 บาทต่อหน่วย เพื่อล้างหนี้ค้างแสนล้านให้แก่ กฟผ. ไปเลย
ไหนจะเรื่องที่ กกพ. ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดเฟส 2 อีก 3,600 เมกะวัตต์ ที่ตั้งเกณฑ์รับซื้อแบบ "เก็บตก" จากผู้ผลิตไฟที่เคยยื่นไว้ในรอบแรก แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ทำให้สังคมพากันตั้งข้อกังขาว่า เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ทำไมไม่เปิดประมูลใหม่ แลทำไมจะต้องเร่งจัดซื้อในเมื่อสำรองไฟฟ้า Reserve Margin ของประเทศยังบานฉ่ำ
ล่าสุด ยังมีข่าวเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ประธานและกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่ว่างลง 4 คน (จากทั้งชุด 7 คน) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ที่ถูกพรรคฝ่ายค้านออกมากระตุกเบรกอ้างว่า กรรมการสรรหาบางคนเป็น "ร่างทรง" กลุ่มทุนพลังงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น ทำให้ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน สั่งให้ กกพ. ชะลอโครงการรับซื้อไฟในเฟส 2 เอาไว้ก่อน จนกว่าจะตรวจสอบ-เคลียร์หน้าเสื่อเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นของสังคมให้กระจ่างแล้ว
#ตีปลาหน้าไซหรือใบสั่งตั้ง กกพ.
ในส่วนของคณะกรรมการสรรหา กกพ. นั้น หลายฝ่ายในแวดวงพลังงานเองออกมาตั้งข้อสังเกต หากไล่เลียงรายชื่อ 8 กรรมการสรรหาที่ว่า ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น นายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน นายประสงค์ พูนธเนศ และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อดีตปลัดคลัง นายพสุ โลหาชุน อดีตปลัดอุตสาหกรรม ที่เหลือก็เป็นตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม สถาบันอุดมศึกษา และตัวแทนเอ็นจีโอ
"คนในระดับ "ซือแป๋ยังเรียกพี่" แบบนี้ใครจะไปชี้นิ้วสั่งการเขาได้หรือ และจะว่าไปหากในกรรมการสรรหาข้างต้นจะมี "ร่างทรง"กลุ่มทุนพลังงานเล็ดรอดเข้ามาจริงสักคนสองคน แล้วจะทำให้กรรมการสรรหาทั้งชุดกลายเป็นเป็ดง่อย ชี้ไม้เป็นนก หรือชี้ช้างเป็นลาได้หรือ ไม่สามารถจะใช้วิจารณญาณเลือกและสรรหา กกพ. ได้เพราะถูก "สนตะพาย" ได้หรือ?"
แทนที่จะช่วยกันจับตาและตรวจสอบตัว "ว่าที่ กกพ." ที่จะเข้ามาจริงๆ ในอนาคตเป็นใคร? มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนพลังงานหรือเป็น "ร่างทรง" กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ถึงเวลานั้นค่อยออกมาร้องแรกแหกกระเชอยังจะพอทำเนา
#ปลุกผีปฏิรูปพลังงานที่ไม่มีวันจบ
อีกเรื่องที่กำลังเป็นเผือกร้อนขึ้นมาก็คือ ประเด็นที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ขึ้นเวที Economic Forum 2024 ของ The Standard และได้วิพากษ์ธุรกิจไฟฟ้าของประเทศว่า หากไม่เร่งปฏิรูปวันนี้เราจะตายกันหมด
โดย ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ประชาชนคนไทยต้องรู้แล้วว่า เราจะให้ผู้ขายไฟฟ้ามากำหนดอนาคตของประเทศบนต้นทุนของประชาชนและธุรกิจต่างๆ ไม่ได้อีกแล้ว วันนี้ไฟฟ้าคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ หากไม่เร่งปฏิรูปปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเราจะตายกันหมด
มีการนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงอัตรายของโครงสร้างการผลิตไฟบ้านเราในปัจจุบัน ที่สัดส่วนการผลิตไฟของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) เหลืออยู่เพียง 33.90% เท่านั้น ขณะที่เอกชนมีสัดส่วนการผลิตไฟไปถึง 57.09%
โดยผู้ผลิตไฟเอกชนรายใหญ่ (IPP) ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1. บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf) มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าในมือ 4,888 เมกะวัตต์ 2. บมจ.ราช กรุ๊ป RATCH Group มี 4,161 เมกะวัตต์ 3. บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 3,473 เมกะวัตต์ และ 4. บมจ.ผลิตไฟฟ้า EGCO Group 2,276 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวในแวดวงพลังงานได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นข้างต้นว่า หากดูข้อมูลที่ประธานทีดีอาร์ไอสะท้อนออกมา ก็ให้น่าแปลกใจ เพราะเกิดมาก็เพิ่งถึงบางอ้อเอาวันนี้ว่า การตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนจะ IPP SPP VSPP ในช่วงระยะ 10-15 ปีเศษที่ผ่านมานี้ ผู้ขายไฟฟ้าเป็นผู้กำหนดราคาหรือ?
"ไม่ใช่กระทรวงพลังงาน ไม่ใช่ กกพ. หรอกหรือ ที่เป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อผ่านนโยบายการแข่งขัน ใครเสนอราคาต่ำสุดก็ได้โครงการไปหรอกหรือ ยิ่งกับไฟฟ้าพลังงานทดแทน ไฟฟ้าทางเลือก หรือพลังงานสะอาดทั้งหลายแหล่ที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายรับซื้อจะให้ค่าธรรมเนียมพิเศษจูงใจการผลิต Feed in Tarif : FIT หรือค่า Adder แก่ผู้ผลิตไฟซึ่งก็ล้วนมาจากนโยบายรัฐทั้งสิ้น ก่อนเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเสนอราคา"
ส่วนจะกำหนดต้นทุน และอัตรากำไรไว้เหมาะสมหรือไม่? ให้กำรี้กำไรแก่เอกชนจนสำลักมากไปหรือไม่ อย่างไรนั้นคงต้องย้อนกลับไปถามกระทรวงพลังงาน และ กกพ. ในอดีตกันเอง
#บอสเอกกับปกป้องกระเป๋าใคร?
และคงต้องถามท่านนักวิชาการ "กูรู้" ทั้งหลายด้วยว่า ตอนที่รัฐบาล คสช. เขาตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานอย่างถึงพริกถึงขิง จนมาถึงการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดปลายปีก่อนนั้น พวกท่านมัวไปนั่งหายใจรวยริน หรือนั่งเอามือ "ซุกหีบ" กันอยู่ไหนหรือ ถึงไม่ออกมาปกป้องหรือร้องแรกแหกกระเชอให้สาธารณชนได้รับรู้ตื้นลึกหนาบางบรรดาความอัปยศทั้งหลายเหล่านี้
อย่างการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนพลังงานทางเลือกในอดีตที่ได้ค่า FIT 9-12 บาทต่อหน่วยนั้น กำไรทะลักล้นจนถึงขนาดที่บริษัทพลังงานเลื่องชื่อ "วินเอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง" ที่มีข่าวว่า ตัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มก้าวหน้าและผู้นำจิตวิญญาณ "ด้อมส้ม" ที่ออกมาจุดพลุคัดค้านการจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนระลอกใหม่ ก็ถือหุ้นอยู่ด้วยนั้น แต่ละปีขายไฟฟ้าให้รัฐปีละ 10,000 ล้าน และได้รับเงินส่วนเพิ่ม Adder จากการขายไฟให้รัฐในระดับ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์ ไปจนถึงปี 2570-72 ทำให้บริษัทมีกำไรสูงถึงปีละ 5,000 ล้าน สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นผู้นำจิตวิญญาณด้อมส้มจะออกมาแฉหรือกระทุ้งให้ฉีกสัญญาขายไฟทิ้งบ้าง
"มีกำไรทะลักล้นจนสำลักขนาดไหน ก็ถึงกับทำเอาผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ร่วมก่อตั้งบริษัทมา เปิดศึกชิงหุ้นส่วนชิงอำนาจบริหารกันอย่างถึงพริกถึงขิง ถึงขนาดผู้ถือหุ้นบางกลุ่มเปิดสายเลือดฟ้องร้องตัดขาดกันเองภายในครอบครัว จนถึงขนาดญาติพี่น้อง ยังไม่เผาผีกัน"
ส่วนประเด็นสัดส่วนการผลิตไฟในปัจจุบัน ที่ กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่เพียง 33.9% ขณะโรงไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนการผลิตมากถึง 57.09% อะไรนั้น ก็คงต้องย้อนถามกลับไปยัง "กูรู้" ทั้งหลายแหล่ รวมทั้งนักวิชาการ TDRI ว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนข้างต้นนั้นนับรวมไปถึง RATCH Group และ EGCO Group ด้วยหรือไม่?
กลับกันหากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในวันนี้ไม่ใช่กิจการของรัฐ แต่เป็นของตระกูลชินหรือกลุ่มทุนพลังงานโดยตรง กำลังการผลิตไฟของเอกชนในส่วน RATCH และ EGCO ที่กำลังตีปี๊บกันอยู่นี้จะถูกเหมารวมว่าเป็นโรงไฟฟ้าของเอกชน หรือเหมารวมว่าเป็นของตระกูลชินหรือทุนพลังงาน!
เพราะทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี ทั้งสองโรงไฟฟ้ามีที่มาจาก กฟผ. เอง เป็นผู้ดึงเอกชนเข้ามาร่วมจัดตั้งตามนโยบายเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้า ดึงเอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้า ก่อนจะแปรรูปนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ก่อนขยับไปเป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนตามมา
ข้อเสนอ#ปฏิรูปพลังงานในฝัน
จะว่าไปหากโครงสร้างพื้นฐานด้านกิจการไฟฟ้ามันสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับประเทศและประชาชนคนไทย โดยเฉพาะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศแล้ว ทำไมรัฐบาลและกระทรวงพลังงานถึงไม่คิดจะจัดตั้ง "กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน" เพื่อซื้อคืนโรงไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ แบบนโยบายซื้อคืนรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคมไปเลย
หรือไม่ก็วางนโยบายพลังงานไฟฟ้าเสียใหม่ โดยรัฐเป็นผู้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแล้วจ้างเอกชนผลิต ให้แข่งขันกันเสนอราคาผลิตรูปแบบเดียวกับที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. จ้างเอกชนก่อสร้างและเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยที่รัฐบาลยังคงเป็นเจ้าของ สามารถจะกำหนดอัตราค่าโดยสารให้ถูกอย่างไรก็ได้ หรือจะ "ขาดทุนบักโกรก" อย่างไรก็ได้จริงไม่จริง!!!
ที่เห็นและเป็นไปวันนี้ก็ต่อสู้อยู่เพียงแค่จะให้ กฟผ. ได้สิทธิผูกขาดการผลิตและขายไฟโดยไม่เคยมีใครลงไปตรวจสอบเลยว่าต้นทุนผลิตไฟ กฟผ. เมื่อเทียบกับที่เอกชนผลิต หรือขายโดยตรงนั้นเป็นอย่างไร?
มีด้วยหรือกิจการที่รัฐผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำแล้ว มีราคาถูกกว่าเอกชน กิจการอะไรหรือเอาปากกามาวง!!!